
ทำไมเปลี่ยนตัว'โฆษกรัฐบาล'ครั้งที่4?
ทำไมเปลี่ยนตัว'โฆษกรัฐบาล'ครั้งที่4? : ขยายปมร้อน โดยสมัชชา หุ่นสาระ
คณะรัฐมนตรีมีมติย้าย "นพ.ทศพร เสรีรักษ์" พ้นจากเก้าอี้ "โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตี" ไปดำรงตำแหน่ง "รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี" (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ แล้วแต่งตั้งให้ "ธีรัตถ์ รัตนเสวี" พิธีกรรายการ "นายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน" มานั่งในตำแหน่งแทน
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในการเปลี่ยนตัวโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะคณะรัฐมนตรีชุดนี้อายุเกือบสองปี แต่ใช้กระบอกเสียงรัฐบาลมาถึงวันนี้ 4 คนแล้ว
"ธีรัตถ์ รัตนเสวี" หนุ่มนักเรียนนอกคนนี้ ดีกรีเป็นอดีตนักข่าวเศรษฐกิจไอทีวียุคเริ่มแรก จากนั้นค่อยๆ เลื่อนขั้นเป็นโปรดิวเซอร์ และผู้ดำเนินรายการข่าวเศรษฐกิจ และก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหาร รวมถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่มันนี่แชนแนล และวอยซ์ทีวี รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
"ธีรัตถ์" เข้ามาเป็นพิธีกรรายการ "นายกฯ ยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ต่อจาก "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" ที่ขยับไปนั่งตำแหน่ง "เลขาธิการนายกรัฐมนตรี" ตามสเปกที่แกนนำรัฐบาลวางไว้คือ ไม่ก้าวร้าว สุภาพ ตั้งคำถามตรงประเด็นที่วางไว้ ไม่มีทัศนคติเชิงลบกับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน
สำหรับตำแหน่ง "โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อนมาเป็น "ธีรัตถ์" เคยมีมาแล้ว 3 คน โดยคนแรกคือ "ฐิติมา ฉายแสง-ศันสนีย์ นาคพงศ์-นพ.ทศพร เสรีรักษ์" ที่มีการเปลี่ยนตัวอาจเป็นเพราะผลงานบางอย่างไม่โดนใจท่านผู้นำและคนแวดล้อม
มีข่าวถึงขั้นแกนนำรัฐบาลที่ดูแลด้านภาพลักษณ์ของนายกฯปิดห้องเรียกโฆษกรัฐบาลและคณะมาประชุมเครียดกันหลายชั่วโมงมาแล้ว และท้ายสุดก็ต้องเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลเป็นระยะ
โดยเฉลี่ยแล้วตำแหน่ง "โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" จะมีอายุการทำงานประมาณ 4-6 เดือนก่อนที่จะขยับไปรับหน้าที่ใหม่ เช่น รองเลขาธิการนายกฯ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เลขานุการ รมว.คมนาคม
กรณีนี้ก็เช่นกัน "หมอทศพร" ที่ขยับไปเป็นรองเลขาธิการนายกฯ นั้น อาจทำงานไม่โดนใจคนบนตึกไทยคู่ฟ้า เจ้าสำนักตึกนารีสโมสรจึงต้องเปลี่ยนตัวมาเป็น "ธีรัตถ์" อดีตนักข่าวเศรษฐกิจคนนี้ เพราะแว่วมาว่าช่วงนี้รัฐบาลต้องการบุคคลที่สื่อสารแนวนโยบายรัฐบาลให้ชัด รวมทั้งตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยท่าทีที่นุ่มนวล ไม่แข็งกร้าว ชี้แจงข่าวสารแบบตรงประเด็น
ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ใครบางคนบนตึกไทยคู่ฟ้าสั่งถอดรายการของสำนักโฆษกแบบสายฟ้าแลบ โดยที่ทีมงานไม่รู้ตัวล่วงหน้าและไม่มีการแจ้งเหตุผลใดๆ ในการ "ถอดรายการ" ดังกล่าว
รู้เพียงว่าใครคนนั้นไม่แฮปปี้และเตรียมส่งทีมงานของตัวเองเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นช่างคล้ายเมื่อปี 2544-2549 หากย้อนอดีตช่วงที่คณะรัฐมนตรีไทยรักไทยรุ่งเรืองนั้น ยามนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ก็เปลี่ยนตัวกระบอกเสียงบ่อยครั้ง
ตั้งแต่ (รัฐบาลไทยรักไทย 1) "ยงยุทธ ติยะไพรัช, น.ต.ศิธา ทิวารี, จักรภพ เพ็ญแข" (รัฐบาลไทยรักไทย 2) "พล.ต.อ.เฉลิมเดช ชมพูนุท, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" แต่อายุเฉลี่ยในการดำรงตำแหน่งจะนานกว่าคือคนละ 1 ปีเศษ บางคนรับหน้าที่นี้ก่อนก้าวกระโดดเป็นใหญ่เป็นโต บางคนได้รับหน้าที่แบบต่างตอบแทน บางคนเข้ามากู้สถานการณ์ที่ค่อนข้างย่ำแย่ของรัฐบาลในช่วงนั้น
หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไป "โฆษกรัฐบาล" คือตำแหน่งทดลองการลงสนามของนักการเมืองรุ่นใหม่ใน "สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย" บางคนแจ้งเกิด เช่น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"
หรือย้อนเวลานานไปกว่านั้น สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ข้าราชการประจำที่เป็นคนรุ่นใหม่จะเข้ามาช่วยชี้แจงแทนคนการเมือง เช่น "สุวิทย์ ยอดมณี, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ก็มี "ลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์, มนตรี เจนวิทย์การ" แม้ในช่วง รสช.ก็ใช้บริการของนักกฎหมายหนุ่มนาม "วิษณุ เครืองาม"
ต่อมายุคที่พรรคการเมืองต่างๆ ผลัดกันเข้ามาเป็นรัฐบาล คนใกล้ชิดนายกฯ หรือแกนนำรัฐบาลจะเข้ารับตำแหน่ง "โฆษกรัฐบาล" ก่อนไต่เต้าขึ้นไปเป็น "รัฐมนตรี" เช่น รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็มี "สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล" รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็มอบหน้าที่นี้ให้ "วราเทพ รัตนากร" รัฐบาลชวน หลีกภัย ก็มอบหมายให้ "อภิสิทธิ์กับอรรคพล สรสุชาติ"
ช่วงหลังที่การเมืองร้อนแรงตำแหน่ง "โฆษกรัฐบาล" กลายเป็นของร้อนที่ใครๆ ไม่อยากแตะ แม้บางรายใคร่ลิ้มลอง เพื่อหวังเป็นบันไดสู่ตำแหน่งใหม่ทางการเมืองก็ตาม ยามนั้นบางคนก็ทำได้หน้าที่เสมอตัว บางคนก็เสียรังวัดไปบ้าง
เช่นสมัยรัฐบาล คมช.นั้นมอบหน้าที่ให้คนข่าวเช่น "นพ.ยงยุทธ มัยลาภ, ไชยา ยิ้มวิไล" รัฐบาลพลังประชาชนแต่งตั้งคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ คือ "พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รับหน้าที่นี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบให้ "ปณิธาน วัฒนายากร" ขึ้นแท่นดูแล
การเมืองห้วงเวลาดังกล่าวนั้น ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งมีสูง กระบอกเสียงรัฐบาลก็ต้องทำงานหนัก แต่บางรายคล้ายไม่รู้ว่ายามนั้นควร-มิควรชี้แจงหรือตอบโต้ในเรื่องใด การทำงานจึงคล้ายเป็นผลเสียกับภาพลักษณ์ ทำให้ผู้นำรัฐบาลต้องคิดหนัก เพราะต้องสรรหาคนที่เหมาะสมกับงาน แต่ดูเหมือนล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ
ในอดีตอาจสะท้อนภาพรางๆ ของอนาคตของรัฐบาลได้ โดยดูว่าสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานี้และต่อไปควรจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้แข็งไว้ในมือ หากสังเกตดีๆ นายกฯ หญิงมักจะเลี่ยงในการตอบคำถาม ดังนั้น "โฆษกรัฐบาล" คือตัวแทนอย่างเป็นทางการของนายกฯ ที่ต้องเป็นผู้ชี้แจงเรื่องราวต่างๆ แทน
ภารกิจของ "โฆษกรัฐบาลคนใหม่" บางคราวอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะประเด็นร้อนๆ ทางการเมืองและเศรษฐกิจได้จุดติดแล้ว งานนี้เรียกว่าทำดีเสมอตัว หากพลาดก็อาจหมายถึงการดับอนาคตบนเวทีไปเลยก็เป็นได้!
.................................
(หมายเหตุ : ทำไมเปลี่ยนตัว'โฆษกรัฐบาล'ครั้งที่4? : ขยายปมร้อน โดยสมัชชา หุ่นสาระ)