
การกลับมาของเรื่องบู๊
หลายคนบอกกับผมว่า เรื่องบู๊กำลังจะกลับมา-คำว่าเรื่องบู๊ในที่นี้หมายถึงนวนิยายชีวิตการต่อสู้ ประเภท...เขาเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ หรือพระเอกคนเดียวผู้ร้ายตั้งพันตามที่ภาษาหนังไทยเรียกกันว่าระเบิดภูเขา
เผากระท่อม ไม่ใช่บู๊แบบปิดถนนเผายางรถยนต์ หรือล้อมมหาดไทยไล่ทุบรถนายกฯ ข้อสันนิษฐานว่าเรื่องบู๊จะกลับมาก็มาจากการที่วิกจอแก้วทั้งช่อง 3 และ ช่อง 7 จัดละครบู๊อย่าง “ดิน น้ำ ลม ไฟ” และ “เสาร์ห้า” มาชนกันจนจอกระจาย เพราะทั้งสองเรื่องสองโรงอัดดารา คิวบู๊ เทคนิค และทุนในการถ่ายทำอย่างไม่อั้น
จริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นวัฏจักรปกติของหนัง และละคร ที่เมื่อคนดูเบื่อเรื่องชีวิตหนักๆ ก็จะหันไปหาเรื่องรักกระจุ๋มกระจิ๋ม หรือตลกโปกฮา หมดจากเรื่องรักเรื่องตลกก็เป็นช่วงเวลาของเรื่องผี แล้วก็อยากดูอะไรที่มันในอารมณ์ ประเภทเรื่องตื่นเต้น ต่อสู้ สืบสวน หรือฆาตกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในเรื่องบู๊อย่างครบถ้วน
เรื่องบู๊ของไทย น่าจะเริ่มในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่บ้านเมืองประสบปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โจรผู้ร้ายชุกชุม จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ ป.อินทรปาลิต เขียนนวนิยายเรื่อง “เสือดำ-เสือใบ” อันลือลั่น ทวนกระแสของนิยายรักโรแมนติก และนิยายแนวอุดมคติ แต่เรื่องบู๊มารุ่งโรจน์ หลังปี พ.ศ.2501 เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม และกวาดจับนักคิด นักเขียน ไปขังลืมกันเป็นทิวแถว
รวมทั้งวางกฎเหล็กสำหรับหนังสือพิมพ์อย่างเข้มงวด จนทำให้นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งต้องวางมือจากงานที่ตนรัก และนักเขียนอีกส่วนหนึ่งต้องหันมาสร้างงานเขียนประเภทอื่นที่ไม่ข้องแวะกับการเมือง ดังเช่น อิศรา อมันตกุล กลายมาเป็น “แฟรงค์ ฟรีแมน” เขียนคอลัมน์ “สแลงแต่ไม่แสลง” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สุวัฒน์ วรดิลก ต้องเปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่อง “ภูติพิศวาส” ในนามปากกา“รพีพร”
ก่อนหน้านั้น ใน พ.ศ.2495 ในสมัย รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เรียกร้องสันติภาพ และต่อต้านการที่ประเทศไทยส่งทหารเข้าร่วมกับสหรัฐ ในสงครามเกาหลี หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นแกนนำ และ ฉัตร บุณยศิริชัย เจ้าของนามปากกา “จารึก ชมพูพล” ผู้เขียนเรื่องสั้น “ปลาซิวตัวสุดท้ายที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา ฉัตรถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง 4 ปี เมื่อได้รับการปลดปล่อย เขาได้เปลี่ยนแนวการเขียนจากแนวอุดมคติเข้มข้นมาสู่นวนิยายชีวิตรักโดยใช้นามปากกาว่า “อ้อย อัจฉริยกร” แต่ที่โด่งดังเป็นพลุแตกก็เมื่อตอนที่ใช้นามปากกาว่า “ศักดิ์ สุริยา” เขียนนิยายบู๊เรื่อง “ชุมแพ” ลงในนิตยสารบางกอก และตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น “ดงเย็น” “ทุ่งลุยลาย” “เขาใหญ่” “ไผ่กำเพลิง” “ชาติจงอาง” ฯลฯ
ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2516 นิยายบู๊ครองตลาดแทบจะโดยสิ้นเชิง นิตยสารบางกอกเป็นสนามใหญ่สำหรับนวนิยายประเภทนี้ ก่อนเข้าสู่สูตรสำเร็จซึ่งประกอบด้วย “นิยายในบางกอก ออกอากาศโดยคณะแก้วฟ้า เป็นหนังที่มิตร-เพชรา นำแสดง ลงแจ้งความในไทยรัฐ และจัดฉายที่เฉลิมกรุง”
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเรื่องบู๊ในสไตล์ ของ “ศักดิ์ สุริยา” ก็จะพบว่า ไม่ใช่แค่บู๊ล้างผลาญเพื่อเอามันลูกเดียว แต่ยังสอดแทรกเรื่องการลุกขึ้นยืนสู้กับอิทธิพลเถื่อนหรืออำนาจที่ไม่เป็นธรรมของชาวบ้านตัวเล็กๆ การผดุงไว้ซึ่งความถูกต้อง การเสียสละ ความสามัคคี ความกล้าหาญ การหวงแหนผืนแผ่นดินและถิ่นกำเนิด ฯ
ครับ อำนาจทางการเมืองอาจจะทำให้นักคิดนักเขียนสงบปากคำที่สร้างความระคายเคืองแก่ผู้มีอำนาจได้ แต่คงไม่มีอำนาจใดที่สามารถห้ามนักเขียนไม่ให้สอดใส่ความถูกต้องเป็นธรรมลงในผลงานของตนได้หรอกครับ ไม่ว่าความคิดนั้นจะแฝงอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม