
อะไรเอ่ย?
สมัยก่อนมีปริศนาอยู่ข้อหนึ่งที่เล่นทายกันว่า "อะไรเอ่ยที่คนทำทำไว้ขาย คนซื้อไม่ได้ใช้ และคนใช้ไม่ได้ซื้อ" คำตอบก็คือ โลงศพ เพราะคนที่ทำโลงขึ้นมาก็เพื่อขายเอาสตางค์ คนที่ซื้อโลงก็เพื่อนำไปใส่ศพผู้อื่น และคนที่ใช้โลงก็คือคนตายซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ได้ลุกขึ้น
แต่สมัยนี้ถ้าทายว่า “อะไรเอ่ยที่คนออกแบบๆ ให้คนอื่นปฏิบัติ คนปฏิบัติก็ไม่ได้อยากจะทำตามแบบ และเจ้าของเองก็ไม่มีส่วนทั้งในการออกแบบและการปฏิบัติ”- ถูกต้องคร้าบ..
.
สำหรับท่านที่ตอบว่า “รัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะของไทยเรา ฉบับปี 2550 เป็นอะไรที่คนออกแบบ ออกแบบไปตามประสบการณ์ที่ได้รับจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก และภาคการเมืองมีความเข้มแข็ง จนนำไปสู่การรวบอำนาจทางการเมือง กระทั่งจบลงด้วยการปฏิวัติเพื่อล้มกระดาน ตามมาด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยแนวคิดแบบข้าราชการเพื่อวางบรรทัดฐานทางการเมืองตามที่ผู้ร่างต้องการ รวมทั้งการจำกัดอำนาจนักการเมือง จนแทบไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวเช่นในสมัยพรรคไทยรักไทย นอกเหนือไปจากมาตรการเด็ดขาดอย่างการยุบพรรคการเมือง และระงับสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ซึ่งภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าพรรคการเมืองไทยต้องเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิ ถูกยุบพรรคเป็นทิวแถว นักการเมืองระดับแถวหน้าถูกลงโทษระงับสิทธิทางการเมืองเป็นขบวน
แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้สภาวการณ์ทางการเมืองของไทยดีขึ้น เพราะนอกจากประสบปัญหาการขาดบุคลากรทางการเมืองแล้ว วงล้อการเมืองยังหวนคืนสู่บรรยากาศเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยฝูงงูเห่า การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี การช่วงชิงผลประโยชน์ การต่อรองอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช และการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนแกนกันชุลมุน - เมื่อการเมืองอ่อนแอระส่ำระสาย ก็ย่อมส่งผลถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลเสียหายก็คือประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ที่ไม่ได้รับโอกาสทั้งในการออกแบบรัฐธรรมนูญตามที่ตนต้องการ และไม่มีสิทธิไม่มีเสียงที่จะแสดงบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริง
เมื่อพูดถึงปริศนา "คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ" ผมก็นึกถึงคำที่เคยมีผู้เปรียบเปรยถึงนักการเมืองกับระบบการเมืองไทยว่า เหมาะเจาะกันดี เหมือน “ผีแห้งกับโลงผุ” ซึ่งหากเป็นการพูดเพื่อความสะใจก็คงไม่กระไรนัก แต่หากพูดเพราะยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ก็ไม่น่าจะเหมาะนัก เพราะทั้งผีแห้งและโลงผุก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดีแม้แต่น้อยสำหรับการเมืองไทย ที่คนไทยทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่
ถ้าถามว่า แล้วคนไทยควรจะทำอย่างไรกับสภาพการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ ทั้งในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การเรียกร้องให้คว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ความต้องการให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช่ใหม่ หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผมก็คิดว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตั้งแต่ต้นจนจบทั้งกระบวนการ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปไหน น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะประชาชนจะได้เป็นผู้เลือกสิ่งที่ตนเองปรารถนา แทนที่จะจำยอมให้ข้าราชการหรือนักการเมืองมัดมือชก สร้างกติกาทางการเมืองตามที่พวกเขาต้องการ โดยประชาชนแทบจะไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยเช่นที่ผ่านๆ มา
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทั้งประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ข้าราชการผู้ให้บริการแก่ประชาชน และนักการเมืองผู้เป็นตัวแทนของประชาชน ต่างก็ต้องอยู่ร่วมกันในประเทศไทยตลอดไป