คอลัมนิสต์

เจอ'งู'แจ้ง191'สายตรวจ'..จับให้

เจอ'งู'แจ้ง191'สายตรวจ'..จับให้

02 ก.พ. 2556

เจอ'งู'แจ้ง191 'สายตรวจ'..จับให้ : สารพันตำรวจ โดยพัฐอร พิจารณโสภณ

              "งู" สัตว์เลื้อยคลานที่หลายคนหวาดกลัว แค่เห็นเลื้อยผ่านไกลๆ อาจถึงขั้นขนพองสยองเกล้ากันทีเดียว แต่ถ้าต้องมาประจันหน้ากันอารามตกใจจะทบทวีคูณ และบางตัวก็ถูกความกลัวของมนุษย์สังหารอย่างเลือดเย็น ทั้งที่มันไม่ตั้งใจจะทำร้ายมนุษย์!!

              "จับเป็น" จะดีกว่ามั้ย...ง่ายๆ และรวดเร็ว เพียงคุณแจ้งมาที่ สายด่วน "191" ตำรวจสายตรวจใกล้บ้านจะรีบไปช่วยเหลือทันที

              หลังจากตำรวจสายตรวจ 191 กว่า 60 ชีวิต ประเดิมฝึกซ้อม "จับงู" กันจนชำนิชำนาญแล้ว เมื่อบ่ายวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีครูฝึกจากภาคเอกชน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการจับสัตว์มีพิษมาฝึกสอนแบบตัวต่อตัว พร้อมเครื่องไม้เครื่องมือครบครัน เช่น เหล็กจับงู ตะขอจับงู ห่วงจับงู และสิ่งที่ขาดไม่ได้ "งูเป็นๆ" 3 ชนิด คือ "งูเห่า" "งูเขียวหางไหม้" และ "งูเหลือม"

              "ถ้าใครเป็นสายตรวจในเมืองจะไม่เจอหรอกงูเห่า แต่ถ้าขยับมารอบนอกมีสิทธิ์เจอแน่นอน งูเห่าเป็นงูเจอบ่อย แต่เป็นงูที่จับง่าย เนื่องจากตาไม่ดี ถ้าเรามีตะขอจับ รับรองปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์" ครูฝึกพูดปลอบใจให้คลายกังวล
 
              เพียงไม่กี่อึดใจ "งูเห่า" ตัวเขื่อง ถูกปล่อยออกมาจากถุง เลื้อยพลิ้วๆ ลื่นไหลอยู่บนพื้นปูนซีเมนต์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจก็ต่างผวากันเล็กน้อย ก่อนครูฝึกจะใช้ตะขอค่อยๆ คล้องไปที่คองูเห่าก่อนจะดึงเชือกให้กระชับเป็นอันเสร็จเรียบร้อย คิวต่อมาเป็น "งูเหลือม" ซึ่งในช่วงหน้าหนาวจะดุกว่าปกติ จึงต้องรักษาระยะห่างให้ดี ส่วนงูเขียวหางไม้จะต้องใช้ความระมัดระวังกว่างูชนิดอื่นๆ และสอนถึงวิธีนำงูยัดใส่ถุงเพื่อนำส่งสถานเสาวภา

              "ออกมาลองกันหน่อย ถ้าไม่ออกเดี๋ยวผู้การเดินไปแจกไม้ตะขอเองเลยนะ" พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ ฉันทวรลักษณ์ ผบก.สปพ. กระตุ้นลูกน้องให้รีบออกไปฝึกปรือวิชาจับงูให้ช่ำชองหลังจบการสาธิต

              "สายตรวจ" หน่วยกล้าตายรีบทยอยกันออกมาลองจับงูเห่าตามคำสั่ง บางนายเคยจับงูมาหลายตัวแล้วก็ทำได้อย่างชำนาญ แต่บางนายเพิ่งจับงูเป็นครั้งแรก กว่าจะคล้องเชือกที่งูได้เล่นเอาตำรวจสายตรวจที่ยืนลุ้นอยู่รอบๆ ข้างต่างผวากันเป็นแถว หลังจบหลักสูตรภาคปฏิบัติแล้ว เจ้าหน้าที่สายตรวจก็ต้องเข้าสู่การอบรมเชิงทฤษฎีให้ได้รู้ถึงข้อสังเกตและระวังจากวิทยากรกันต่ออีก

              พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ ย้อนถึงที่มาของการนำตำรวจในกองกำกับการสายตรวจมาฝึกจับงูว่า ที่ผ่านมามีการรับแจ้งจากศูนย์วิทยุ 191 อยู่เสมอในเรื่องขอความช่วยเหลือ หลังจากประสบเหตุงูเข้าบ้านหรือสัตว์มีพิษต่างๆ ในระยะหลังจะมีรับแจ้งและส่งต่อไปยังมูลนิธิ ให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งอาจจะช้า จึงคิดว่าถ้าตำรวจสายตรวจสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที น่าจะทำให้ประชาชนอุ่นใจมากขึ้น เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจบางนายก็จับงูเป็น บางนายก็จับไม่เป็น และมีความต้องการที่จะจับงูให้เป็น จึงได้หาวิทยากรมาอบรม เพื่อให้เขามีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น

              ด้าน พ.ต.อ.ทิวา โสภาเจริญ ผกก.สายตรวจ เผยถึงโครงการฝึกจับงูว่า เป็นหนึ่งในโครงการ “191 ที่พึ่งแรกของประชาชน”  พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ รองผบช.น. เป็นประธานในการเปิดโครงการ ซึ่งเน้นงานบริการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเรื่องที่เป็นปัญหาใกล้ตัวทั่วๆ ไป โดยแบ่งเป็น 4 กิจกรรม ดังนี้ 1.พบงูหรือสัตว์มีพิษ เราจับให้ ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในเรื่องการจับสัตว์ดุร้าย โดยเฉพาะงูชนิดต่างๆ ที่อาจจะเข้าไปอยู่ในบ้านเรือนของประชาชน 2.โครงการตรวจความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยระหว่างสายตรวจกับร้านแมคโดนัลด์ ในช่วงเวลา 24.00-06.00 น. 3.ช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุต่างๆ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล 4.รถดับ สตาร์ทไม่ติดโทร 191 ที่จะแก้ไขปัญหารถเสียเบื้องต้น ซึ่งพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ตามท้องถนนที่ส่งผลถึงปัญหาการจราจร โดยมีการดำเนินการในเบื้องต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2556 

              "การจับงูนั้น หลังจากนี้ไปจะมีการเตรียมอุปกรณ์จับงูให้มีประจำรถสายตรวจ 191 แล้ว แต่จะปรับให้อุปกรณ์จำพวกตะขอเกี่ยวงูให้ยาวขึ้นกว่าเดิม เพราะดูจากการฝึกจับวันนี้งูค่อนข้างมีความไวและพุ่งฉกได้ไกล เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเองด้วย" พ.ต.อ.ทิวา บอกถึงความพร้อม

              ต่อไปนี้ ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าเห็นตำรวจสายตรวจ 191 มีตะขอจับงูเป็นอาวุธคู่กาย เพราะ "191 ยุคใหม่" ..เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกเรื่อง!!

........

(หมายเหตุ : เจอ'งู'แจ้ง191 'สายตรวจ'..จับให้  : สารพันตำรวจ โดยพัฐอร พิจารณโสภณ)