คอลัมนิสต์

ความต่างที่เหมือนกัน

ความต่างที่เหมือนกัน

21 ธ.ค. 2555

ความต่างที่เหมือนกัน : กระดานความคิด โดยสมบูรณ์ บัวหลวง [email protected]

             เมื่อครั้งหนึ่งประเทศไทยต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองของประเทศ ตามแนวความคิดของการรวบศูนย์อำนาจ และความพยายามสร้างภาพของความยิ่งใหญ่ในมายาคติแห่งชาตินิยมไทย ได้มีผลกระทบและแรงกระเพื่อมต่อสังคมประเทศในภูมิภาคต่างๆ มากมหาศาล โดยวันที่ 24 มิถุนายน 2483 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้ประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 9 เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี โดยระบุว่าภาษาไทยเป็นภาษาของชาติ มีการสนับสนุนให้คนไทยเรียนรู้ภาษาไทย และ “ห้ามเปิดโรงเรียนสอนภาษาอื่น” จากนโยบายนี้ได้เกิดคลื่นใต้น้ำและเชื้อ(ไฟ)สุมขอนในสังคมไทยเกือบทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะเป็นปัญหาใจกลางหนึ่ง ของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ดังที่ทราบกันโดยทั่วไป

             แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยได้กำหนดนโยบายภาษาแห่งชาติ โดยได้มอบหมายให้ราชบัณฑิตยสถาน เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ในภาษาของชนชาติพันธุ์ต่างๆและภาษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมประเทศ นับเป็นความท้าทายของราชบัณฑิตยสถาน ที่จะนำเสนอกระบวนการใด อย่างไร ต่อประชาชน ทั้งที่เป็นเจ้าของภาษาเดิมในท้องถิ่นและพลเมืองไทยโดยรวม ให้ได้เข้าใจว่า ชาติไทยจะยิ่งใหญ่ในประชาคมอาเซียนอีก 2 ปีข้างหน้าได้หรือไม่ คนไทยต้องเรียนรู้ภาษาอื่น ที่เป็นเพื่อนบ้านให้เข้าใจ และสื่อสารได้อย่างไร

             เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายในสังคมไทย ที่ยังติดมายาคติแห่งความเป็นชาตินิยมไทยมาอย่างยาวนาน พลเมืองไทยทั้งประเทศจะรับได้หรือรับไม่ได้ แต่...ต้องทำใจ มิเช่นนั้นประเทศจะรั้งท้ายในประชาคมอาเซียนเป็นแน่แท้ มิได้หมายความว่าเราจะต้องทิ้งวัฒนธรรมและภาษาไทย เพราะเป้าหมายความเป็นตัวตนของแต่ละประเทศ แต่ละชาติพันธุ์ เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศท้องถิ่นที่ต้องปกปักรักษาอยู่แล้ว แต่ประเทศตกอยู่ในวังวนแห่ง “ความเป็นชาตินิยม” และไม่ยอมสลัดมายาคตินี้ออกจากตัว

             ทำให้ต้นทุนด้านภาษาอื่นของพลเมืองไทย ต้องอ่อนแอและปวกเปียก จนประเทศและคนไทยต้องขาดทุนด้านเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่อ่อนด้อยด้านภาษาอื่น ประชากรคนไทยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นชาติพันธุ์มลายู เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ ขณะนี้ใช้ภาษามลายูอยู่ประมาณ 83% ของจำนวนประชากรเกือบ 2 ล้านคน เมื่อถึงปี 2558 ประชาคมอาเซียนเกิด จะมีคนพูดมลายูไม่น้อยกว่า 300 ล้านคน กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรสมาชิกประชาคมอาเซียน จากคนกลุ่มน้อยในประเทศ กลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซียนทันที

             รองศาสตราจารย์ ดร.พลสิทธิ์ หนูชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และคณะกรรมการนโยบายภาษาแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า...ในวงการภาษาศาสตร์ได้จัดลำดับความสำคัญทางสังคม เกี่ยวกับนโยบายภาษาไว้อย่างน้อย 3 ระดับคือ ภาษาประจำชาติ (national language) ภาษาราชการ(official language) และภาษาใช้งาน (working language) ในปี 2554 มีการสำรวจว่าประเทศไทยมีภาษาที่ใช้อยู่ประมาณ 70 ภาษา ซึ่งมีทั้งภาษาไทยถิ่นตามภูมิภาค และภาษาในชุมชนท้องถิ่น มีภาษาต่างประเทศ ? เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ อีกมากมายที่ใช้กัน มีคนใช้ภาษาไทยกลางมากกว่า 20 ล้านคน ที่เหลืออีกประมาณกว่า 40 ล้านคนใช้ภาษาภูมิภาคและภาษาถิ่น ประเทศใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ ภาษาทำงาน และถือว่าเป็นภาษาประจำชาติด้วย

             ในขณะเดียวกันมิได้หมายความว่า ภาษาประจำชาติไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ กรณีประเทศไอร์แลนด์ ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติภาษาอังกฤษคู่กับภาษาไอริช เป็นภาษาประจำชาติ แม้ภาษาไอริชจะมีคนพูดเพียง 5% เท่านั้น ประเทศสิงคโปร์ได้ใช้ภาษามลายู ภาษาจีนกลาง ภาษาอังกฤษ และภาษาทมิฬ (Tamill) เป็นภาษาราชการทั้ง 4 ภาษา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีภาษาราชการ 3 ภาษา คือ ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และโรมานซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งจะประกาศเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ แต่ 23 รัฐใน 50 รัฐที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการเท่านั้น

             ในขณะที่คนในประเทศส่วนหนึ่งเห็นว่าภาษาท้องถิ่นเป็นอื่น ไม่เหมือนตน(ภาษาไทย) บ้างดูถูก ดูแคลน สร้างความแปลกแยก ให้เขินอายที่จะบอกคนอื่นได้รู้ว่า “ตัวตนมีและใช้ภาษาอะไรในที่สาธารณะ” เดี๋ยวจะมีคนตั้งคำถามว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า??” โดยเฉพาะภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความต่างกับภาษาที่คนไทยใช้เกือบ 60 ล้านคน แต่...ในอีกเพียง 2 ปีข้างหน้าภาษามลายูจะมีเหมือนและร่วมใช้กันกว่า 300 ล้านคน ของบรรดาประชากรในประเทศประชาคมอาเซียน นี่คือความท้าทายของพื้นที่แห่งชาตินิยม ที่ราชบัณฑิตยสถานจะต้องขบคิดว่า ภาษาเพื่อการสื่อสารและการทำงาน มันคนละเรื่องกับความเป็นคนไทย อย่างที่คนบางคนเขาเข้าใจ และพยายามจะหลอกบอกคนไทยให้เดินตามหลังคนอื่นมาโดยตลอดเกือบ 100 ปีมาแล้ว