คอลัมนิสต์

'เอาอยู่'กับ'สุดวิสัย'

'เอาอยู่'กับ'สุดวิสัย'

12 พ.ย. 2555

'เอาอยู่'กับ'สุดวิสัย' : บทบรรณาธิการประจำวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

               คำว่า เหตุสุดวิสัย หมายถึงเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันโดยไม่มีบุคคลใดคาดหมายหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น และไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้ แม้ว่าตนเองจะใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม ทั้งนี้พจนานุกรมนิยามความหมายของเหตุสุดวิสัยเอาไว้ว่า เป็นเหตุที่พ้นความสามารถของใครในอันที่จะป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับเหตุภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม สะพานขาด ถนนขาด ที่ไม่สามารถป้องกันได้ หรือไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่เหตุธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

               เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีกลาย ประชาชนคนไทยล้วนคุ้นเคยกับคำว่า "เอาอยู่" จากคำยืนยันของผู้บริหารประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่ว่า ผู้บริหารย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นคราวนั้น เป็นเรื่องที่รู้ล่วงหน้าและสามารถหาทางป้องกันได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ได้ใช้ความพยายามทั้งหลายประดามี ระดมเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งมวลเข้าต่อสู้กับภัยน้ำท่วมแล้ว แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่เหมือนที่ลั่นวาจาไว้ เช่นนี้แล้ว อาจพออนุโลมได้ว่า เหตุการณ์น้ำบ่าเข้าท่วมภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษหรือชดใช้ความเสียหายตามกฎหมายแพ่ง

               แต่เมื่อมาพิจารณาพิบัติภัยแล้งที่กำลังลุกลามไปในหลายจังหวัดหลายพื้นที่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ย่อมไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ดังนี้แล้ว รัฐบาล ผู้บริหาร พึงจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นยิ่งเสียกว่าพิบัติภัยน้ำท่วมเมื่อปีกลายที่พอฟังได้ว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ทั้งๆ ที่รัฐบาลรู้ล่วงหน้ามาก่อนด้วยซ้ำไป เมื่อภัยแล้งเป็นเรื่องซ้ำซากเช่นนี้แล้ว รัฐบาลโดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุดต่างๆ จะอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเช่นกรณีน้ำท่วมไม่ได้เป็นอันขาด เมื่อความจริงเป็นนเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นสิทธิของเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาลย่อมฟ้องร้องทางแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย

               แต่ถึงกระนั้น คงไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ หากจะปล่อยให้เกษตรกรพากันลุกขึ้นมาค้าความกับรัฐบาล หนทางที่เหลืออยู่ในเวลานี้ก็คือ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรมให้แก่ทุกๆ ส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการพลังงาน อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งในอดีตนั้น รัฐบาลอาจเชื่อว่า ภาคเกษตรกรรมไม่สู้จะมีปากเสียงอะไรนัก จึงเน้นการจัดการน้ำไปเพื่อการพลังงาน อุตสาหกรรมและการทำน้ำประปาหล่อเลี้ยงคนในเมืองเป็นลำดับแรก พร้อมกับการออกคำสั่งห้ามปรามไม่ให้ชาวนาทำนาปรัง ไม่ให้ชาวสวนชาวไร่ชักน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของตนเอง ฯลฯ   

               ถ้าหากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่เคยเลือกเอาใจคนบางกลุ่มและทอดทิ้งคนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีมากที่สุดของประเทศเสียใหม่ ย่อมเป็นธรรดาอยู่เองที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เป็นธรรมอาจจะลุกขึ้นมาฟ้องร้องทางแพ่ง หลังจากมีข้อพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ว่า พิบัติภัยแล้ง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยดังที่กฎหมายกำหนดไว้