
วัฒนธรรมฆ่าน้องฟ้องนายขายเพื่อนตอนขายเพื่อน
วัฒนธรรมฆ่าน้องฟ้องนายขายเพื่อนตอนขายเพื่อน : โลกตำรวจโดยปนัดดา ชำนาญสุข
"เผอิญเรียนพร้อมกัน" นายตำรวจใหญ่ตอบคำถามเมื่อถูกถามถึงนายตำรวจอีกท่านหนึ่งซึ่งผู้ถามคาดว่าจะได้รับคำตอบว่าเป็นรุ่นเดียวกันเพื่อที่ผู้ถามจะโยงความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายหวังสร้างสัมพันธภาพระหว่างตนกับนายตำรวจใหญ่ให้เป็นไปอย่างสนิทแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
เมื่อคำตอบที่ได้รับกลับได้ผลผิดความคาดหมาย ยิ่งเมื่อพิจารณาน้ำเสียงประกอบสีหน้าท่าทางผู้พูดด้วยแล้วยิ่งสามารถประเมินผลได้อย่างแน่ชัดว่า สายสัมพันธ์ระหว่างนายตำรวจใหญ่ท่านนี้กับเพื่อนผู้ถูกกล่าวถึงนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แตกต่างจากภาพลักษณ์ของผู้แทนตำรวจรุ่นต่างๆ ที่เดินทางไปให้กำลังใจนายตำรวจใหญ่แห่งนครบาล
จนเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า "มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นหรือรุ่นเดียวกันของเหล่าบรรดาผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทย” เพราะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในวิถีการทำงานปกติในโลกของตำรวจคือ ในห้วงเวลาแต่งตั้งโยกย้ายนั้นไม่มีคำว่ารุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเดียวกันหรือรุ่นน้อง...ทุกคนเสมอภาคและมีสิทธิที่จะวิ่งมาแตะเพื่อแย่งชิง(เก้าอี้)ตำแหน่งที่ตนเองหมายปองได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพักเกรดเอหรือตำแหน่งทองที่มีถูกให้นิยามความหมายผ่านตัวชี้วัดที่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกข์หรือสุขของประชาชน
“มีวันนี้เพราะพี่ให้” ดูเหมือนจะเป็นประโยคยอดฮิตที่น่าจะอยู่ในจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง เพราะนายตำรวจส่วนน้อยที่จะได้รับความเมตตาจากพี่หรือจากเพื่อนร่วมรุ่นด้วยบริบทของวัฒนธรรมการทำงานที่ก่อร่างการแก่งแย่งแข่งขัน แตะแข้งเลื่อยขา หรือแม้แต่กระโดดข้ามหัวรุ่นพี่จนกลายเป็นเรื่องปกติในโลกของตำรวจที่ทุกคนคุ้นชิน
หากระบบการบริหารจัดการในโลกของตำรวจเป็นไปตามหลักการ มีกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นระบบชัดเจนตามลำดับขั้นของการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน รุ่นน้องเจริญก้าวหน้าตามรอยรุ่นพี่ รุ่นเดียวกันเติบโตไม่แตกต่างกันมากนัก ยกเว้นผู้ที่ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงจะถูก "ดอง" ไม่ให้ก้าวหน้าในอาชีพการงาน หากเป็นเช่นนี้คำว่า มีวันนี้เพราะพี่ให้ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือถูกตั้งข้อสงสัยแต่ประการใด หรือแม้กระทั่งการลุกขึ้นมาตบเท้าแสดงพลังของความเป็นรุ่นเดียวกัน แสดงพลังของรุ่นพี่รุ่นน้องที่ให้กำลังใจกันยามทุกข์ หรือยามถูกคำถามจากสังคมโหมกระหน่ำก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
“ไปดูสิ ไอ้พวกที่ก้าวหน้าเร็วๆ น่ะ ทำยังไงกับเพื่อนรุ่นเดียวกันบ้าง” นายตำรวจใหญ่ตั้งคำถามท้าทายชวนคิด เพื่อยืนยันให้เห็นว่า ภาวะวิ่งสุดแรงเกิดเพื่อให้ตนเองก้าวหน้านั้นโดยขาดมิติที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนรุ่นเดียวเป็นเหตุผลที่ทำให้ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องหายไป
“ผมน่ะเป็นรุ่นเดียวกับเขาตอนที่เป็นนักเรียน และตอนนี้ผมก็ยังคิดว่าเขาเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับผม แต่สำหรับเขาผมไม่มั่นใจ เขาอาจจะลืมไปแล้วว่าเขาเรียนกับใครบ้าง” คำพูดประชดประชันถูกถ่ายทอดเมื่อถูกถามถึง "นาย" ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่
"กว่าเขาจะเติบโตขึ้นไปถึงจุดนั้น เขาก็ใช้ความพยายามอย่างมาก พยายามหาช่องโอกาสต่างๆ ทำทุกวิถีทาง เขาก็พูดเสมอว่าเขาทำทุกอย่างมาด้วยตัวของเขาเอง ไม่ได้งอมืองอเท้าให้เพื่อนคนไหนมาช่วยเหลือ พอเขาได้ดิบได้ดีก็จะมานับรุ่นกับเขา แต่ผมพูดจริงๆ นะ ผมว่าในความรู้สึกจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครอยากนับรุ่นกับเขาเหมือนกัน" นายตำรวจใหญ่พูดด้วยน้ำเสียงเนิบช้าทว่าชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวจนทำให้ผู้ฟังตีความหมายว่า ในโลกของตำรวจนั้นเรื่องความใกล้ชิดสนิทเสน่หาระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นหรือวัฒนธรรมอุปถัมภ์ระหว่างรุ่นดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่มีแก่นสาร ไม่มีความสำคัญเท่ากับการอุปถัมภ์ค้ำจุนในมิติอื่นๆ ในโลกของตำรวจ
หรือว่า...การแสดงพลังของรุ่นก็เป็นวิถีของปาหี่เท่านั้น!