คอลัมนิสต์

จับตา'ปู'ควบรมว.กห.-'พฤณฑ์'รมช.

จับตา'ปู'ควบรมว.กห.-'พฤณฑ์'รมช.

21 มิ.ย. 2555

จับตา'ยิ่งลักษณ์'ควบ'รมว.กลาโหม' 'พฤณฑ์'รมช. เพิ่มแต้มต่อกองทัพ! : ขยายปมร้อน โดยทีมข่าวความมั่นคง

               ท่ามกลางข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อรองรับการปลดล็อกบ้านเลขที่ 111 และเพื่อรับมือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังเปิดสภา สมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 สิงหาคม หนึ่งในเก้าอี้ที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่มีข่าวว่าจะถูกปรับออกไป
 
               ขณะที่มีข่าวสะพัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาควบเก้าอี้ รมว.กลาโหมอีก 1 ตำแหน่ง ซึ่งหากเป็นไปตามจริงดังข่าวก็จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่มี "นายกฯ หญิง" คนแรกของประเทศ และกำลังจะได้ "รมว.กลาโหมหญิง" เป็นคนแรกของประเทศไทยเช่นกัน
 
               ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงวิเคราะห์ว่า การปรับ พล.อ.อ.สุกำพลออก แล้วส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าไปเป็น รมว.กลาโหมแทน ได้รับการพิจารณาจากเหตุผลหลายประการคือ
 
               1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้หญิง มีภาพของความอ่อนโยน และที่ผ่านมาก็สามารถทำงานเข้าขากับกองทัพได้เป็นอย่างดี ขณะที่ฝ่ายทหารก็ค่อนข้างพอใจท่าทีของรัฐบาลที่ไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงานของกองทัพ โดยไม่เข้ามาปรับแก้ พ.ร.บ.กลาโหม และอนุมัติงบประมาณตามที่กองทัพร้องขอตามภารกิจ โดยแทบจะไม่มีการตัดทอนเลย
 
               2.นายใหญ่อาจจะมองว่า การทำงานร่วมกับกองทัพนานเกินไปอาจทำให้ รมว.กลาโหมถูก "กลืน" โดยฝ่ายกองทัพได้ และที่ผ่านมาการปลด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ออกจากตำแหน่งรมว.กลาโหม และให้เหลือเพียงตำแหน่งรองนายกฯ เพียงเก้าอี้เดียวก็มาจากเหตุผลในทำนองนี้ เพราะบุคลิกของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ถูกมองว่า "ยอม" ต่อฝ่ายกองทัพมากเกินไป
 
               3.เป็นการ "ปรับตามวงรอบ" ของนายใหญ่ที่ต้องการ "ตอบแทน" คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม "ตท.10" เพื่อนร่วมรุ่นของนายใหญ่ที่เข้ามาช่วยงานพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 และหลายคนก็ได้รับผลกระทบจากเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนพลาดตำแหน่งคุมกำลังหลักในกองทัพเป็นจำนวนมาก
 
               ฉะนั้น ถ้าพิเคราะห์จากเหตุผลข้อนี้ จึงปรากฏชื่อของ พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีต ผบ.พล.1 รอ. หนึ่งในมือไม้สำคัญของนายใหญ่ในสมัยที่เรืองอำนาจทางการเมือง โผล่เข้ามาเป็นแคนดิเดตในตำแหน่ง "รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม" หรือ "รมช.กลาโหม"
 
               แม้เหตุผลที่ระบุมา คือต้องการดึง พล.อ.พฤณฑ์เข้ามาช่วยแบ่งเบาภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากได้ควบเก้าอี้ รมว.กลาโหมอีก 1 ตำแหน่ง แต่แท้จริงแล้วการเพิ่มตำแหน่ง รมช.กลาโหมอีก 1 ตำแหน่งก็ถือว่าหวังผล 2 ต่อ คือ 1.ได้ตอบแทนเพื่อนที่เข้ามาช่วยงานทางการเมือง และ 2.เป็นการเพิ่มเสียงโหวตในกรณีการแต่งตั้งนายทหารชั้น "นายพล"
 
               "ตามโครงสร้างแล้ว เสียงในคณะกรรมการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลประกอบด้วย รมว.กลาโหม, รมช.กลาโหม, ปลัดกลาโหม, ผบ.ทสส., ผบ.ทบ., ผบ.ทอ. และ ผบ.ทร. ซึ่งปัจจุบันไม่มี รมช.กลาโหม แนวโน้มของเสียงอยู่ที่ 3 : 3 หรือก้ำกึ่งกับ 2 : 5 แต่ถ้าเพิ่ม รมช.กลาโหมเข้ามาก็มีแนวโน้มสูงที่ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนมือมากกว่า"
 
               จำนวนเสียงที่เพิ่มขึ้นในคณะกรรมการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลย่อมหมายความว่า ฝ่ายที่มีเสียงในมือมากกว่าย่อมสามารถ "กำหนดทิศทาง" ของกองทัพ ผ่าน "ตัวบุคคล" ที่คณะกรรมการคัดเลือกเข้ามาได้ ซึ่งแต่เดิมเสียงในกองทัพมีเอกภาพ และมีจำนวนมือมากกว่า
 
               การเมืองจึงไม่สามารถเข้ามาจัดวางคนของตัวเองเพื่อ "ครอบงำ" กองทัพได้...นั่นจึงนำมาสู่แรงกดดันให้แก้ พ.ร.บ.กลาโหม แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ 1.ติดเงื่อนไขทางกฎหมายที่การแก้ไขต้องผ่านความเห็นชอบของ "สภากลาโหม" เสียก่อน และ 2.ท่าทีไม่สบอารมณ์ของฝ่ายกองทัพ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
 
               ดังนั้น เมื่อมีเสียงโหวตของ รมช.กลาโหมเพิ่มขึ้นมา 1 เสียง จึงเท่ากับเป็นการเพิ่ม "อำนาจต่อรอง" ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ซึ่งแม้ตามธรรมเนียมปกติจะมีการพูดคุยปรึกษากัน และไม่มีการลงมติชี้ขาดเพื่อสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจระหว่างกัน แต่ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ และตกลงกันไม่ได้จริงๆ การโหวตก็เป็นวิธีการสุดท้ายเพื่อหาข้อยุติ
 
               แม้ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยเฉพาะระหว่างนายกฯ น้องสาวนายใหญ่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะราบรื่น ไม่ติดขัด แต่เมื่อใดที่สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรง โดยเฉพาะ "การเมืองนอกสภา" จุดยืนของกองทัพจะถูกตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่าจะเลือกยืนอยู่ฝั่งไหน
 
               บทเรียนอันเจ็บปวดปางตายเมื่อครั้งรัฐประหาร 19 กันยายน ของนายใหญ่ทำให้จำเป็นต้องมีการเดินเกมเพื่อกระชับอำนาจผ่านการ "จัดระเบียบกองทัพ" โดยใช้ความอ่อนโยนของนายกฯ หญิงเป็นตัวนำ และสอดแทรก พล.อ.พฤณฑ์ ซึ่งเป็นตัวแทน ตท.10 เข้าไปเพื่อหาทางจัดระเบียบกองทัพ โดยไม่ต้องแก้ พ.ร.บ.กลาโหมให้เสียเวลา
 
               ดังนั้น ข่าวที่ว่า พล.อ.พฤณฑ์ จะคัมแบ็กสู่กองทัพในตำแหน่ง รมช.กลาโหม จึงมีน้ำหนักไม่น้อย หากมองจากปัจจัยทุกด้าน ทั้งการปรับเปลี่ยนตามวงรอบเพื่อตอบแทนบุญคุณ และทั้งในแง่ของเสถียรภาพรัฐบาลผ่านการแทรกซึมเข้าไปจัดระเบียบกองทัพแบบไม่ต้องหักด้ามพร้าด้วยเข่า
 
               อย่างไรก็ตาม นั่นคือการวิเคราะห์ในมุมที่รัฐบาลเป็นฝ่าย "ได้" แต่กองทัพกำลังจะเป็นฝ่าย "เสีย" ซึ่งก็น่าคิดว่า กองทัพจะมองไม่ออกเชียวหรือว่า การผุดชื่อนายกฯ หญิงขึ้นมาควบ รมว.กลาโหม ขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร และจะมีแผนสองแผนสามตามมาหรือไม่
 
               ขึ้นชื่อว่าสัญชาติเสือ ย่อมไม่ทิ้ง "ลายเสือ" และโบราณท่านมักจะเตือนว่า "อย่าแหย่เสือหลับ" เสียด้วย !!

..........

(หมายเหตุ :จับตา'ยิ่งลักษณ์'ควบ'รมว.กลาโหม' 'พฤณฑ์'รมช. เพิ่มแต้มต่อกองทัพ! ทีมข่าวความมั่นคง)