
ไพร่จานดำ
ไพร่จานดำ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา
สี่ห้าปีที่ผ่านมา ร้านบริการติดตั้งจานดาวเทียมผุดกลางหมู่บ้านขนาดใหญ่ในชนบท ดูจะเป็นเรื่องปกติ เพราะจานโปร่งสีดำ รูปร่างคล้ายสุ่มไก่หงายขึ้นฟ้า ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมของหมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว
ในอดีตนักเขียนวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิต มักจะบรรยายภาพถนนลาดยางตัดผ่านทุ่งนา มีเสาไฟฟ้าลากสายยาวจากเมืองสู่หมู่บ้าน อันสะท้อนภาพความเจริญทางวัตถุที่รุกรานวิถีคนบ้านนอก
พล็อตเรื่องสั้นทำนองนี้คงไม่มีใครเขียนอีกแล้ว เพราะบ้านนาป่าไพรเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสเทคโนโลยีรวดเร็วมาก
ยกตัวอย่างเครื่องรับทีวี ชาวบ้านส่วนใหญ่เลิกใช้เสาอากาศ เนื่องจากฟรีทีวี 3 5 7 9 เอ็นบีที และไทยพีบีเอส ส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียมไทยคมกันหมดแล้ว จึงทำให้ชาวบ้านที่ติด "จานดำ" (จานรับสัญญาณดาวเทียมระบบซี แบนด์) รับชมภาพได้คมชัดมากขึ้น
ว่ากันว่า ชาวบ้านอยากชมละครหลังข่าวทางช่อง 7 สี และช่อง 3 จึงเลือกที่จะซื้อจานดำราคาประมาณ 3-4 พันบาท มาติดตั้งบนหลังคาบ้าน
จานดำมีหลายยี่ห้อ แต่คนชนบทคุ้นเคยมากที่สุดคือ "พีเอสไอ" ของ สมพร ธีระโรจนพงษ์ แห่งพีเอสไอโฮลดิ้ง ที่ผลิตจานดาวเทียมขายมาตั้งแต่ปี 2534
การเกิดขึ้นของตลาดจานดาวเทียม เกิดขึ้นในยุคพฤษภาทมิฬ ที่มีการปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารทางฟรีทีวี
จำได้ว่า ผู้มีฐานะสามารถซื้อจานดาวเทียมราคาหลักหมื่น สามารถรับชมข่าวการชุมนุมประท้วงรัฐบาลร่างทรง รสช.จากสถานีข่าวต่างประเทศอย่างซีเอ็นเอ็น หรือบีบีซี
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ยอดขายจานดาวเทียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะยังมีราคาแพง และคอนเทนท์ก็เป็นช่องทีวีของต่างประเทศเสียทั้งหมด
นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ระบบการแข่งขันในเรื่องของการส่งสัญญาณดาวเทียมมีมากขึ้น ซึ่งแต่ละดาวเทียมที่ส่งสัญญาณขึ้นไปก็ต้องวิ่งไปหาลูกค้า มีการแข่งขันเรื่องราคา ราคาจึงถูกลง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิตอล
เมื่อฟรีทีวีทุกช่องตัดสินใจส่งสัญญาณขึ้นดาวเทียม แทนที่การลงทุนตั้งเสาส่งสัญญาณภาคพื้นดินที่มีราคาแพงกว่า ตลาดค้าขายจานดาวเทียมก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงเดียวกันนั้น ก็มีผู้ลงทุนทำช่องทีวีดาวเทียมโดยไปขอใบอนุญาตแพร่ภาพจากลาวและกัมพูชา จึงทำให้มีรายการบันเทิงใหม่ๆ สลับการขายสินค้า
เมื่อเกิดคดี "แชร์ปูแดง" คนทั่วไปก็เกิดความกังขาว่ามันแพร่ระบาดไปได้อย่างไร? แต่หากผู้ที่ชมทีวีดาวเทียมในช่วงนั้นก็จะทราบได้ทันทีว่า ช่องทีวีดาวเทียมที่ได้รับความนิยมในหมู่เกษตรกร ส่งผลให้ "ลัทธิปูแดง" ขยายธุรกิจเครือข่ายไปอย่างรวดเร็วอย่างไร?
คนเมืองอาจจะคุ้นเคยกับทรูวิชั่นส์ หรือ "จานแดง" เคเบิลทีวีรายใหญ่ที่เก็บค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งมีคอนเทนท์กีฬาต่างประเทศเป็นจุดขาย จนลืมไปว่า ในชนบทนั้น จานดำสะพรั่งบานปานดอกเห็ดหน้าฝน
ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปี 2551-2553 ก็ช่วยกระตุ้นยอดขายจานดำทบเท่าทวีคูณ เมื่อกลุ่ม นปช. ใช้ช่องทีวีดาวเทียม เป็นเสมือนอาวุธในการทำสงครามความคิดปลุกระดมมวลชน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับผู้กุมอำนาจรัฐสมัยนั้น
ชาวชนบทในภาคเหนือและอีสาน จับกลุ่มอยู่หน้าจอทีวีช่อง "จอแดง" ชมการถ่ายทอดสดการชุมนุมมวลชนต่อต้านรัฐบาลที่กลางเมืองหลวง
จริงๆ แล้ว คนบ้านนอกจะคุ้นเคยกับ "จอดำ" มาก่อน เพราะช่องจอแดงของ นปช. ถูกทางการสั่งปิดบ่อย และทุกครั้งพวกเขาจะนั่งเฝ้าจอดำ ด้วยความโกรธแค้นฝ่ายรัฐบาล
ในศึกลูกหนังแห่งชาติยุโรป กว่าร้อยละ 80 ของผู้รับชมทีวีผ่านจานดาวเทียมระบบซีแบนด์ หรือคิดเป็นตัวเลขกว่า 7 ล้านครัวเรือน ต้องประสบกับภาวะจอดำอีกครั้ง ยกเว้นจะซื้อกล่องของเจ้าของลิขสิทธิ์มาติดตั้งเป็นกล่องที่ 2 ของครัวเรือน
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ "ไพร่จานดำ" ส่วนใหญ่ก็ทำใจอยู่กับสภาพจอดำได้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก !