
OK./ เปิดโลกฯ/ 4 ธ.ค.
11 ธ.ค. 2551
OK./ เปิดโลกฯ/ 4 ธ.ค.
ทุน กต.อุ้ม นศ.มุสลิมใต้
สังคมการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในอียิปต์ เริ่มหลากหลายทั้งในภาคของรัฐและเอกชน เริ่มด้วยมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาไทยมาศึกษาด้านศาสนา ปีนี้มีนักศึกษาใหม่จำนวน 475 คน อาทิ มหาวิทยาลัย 6 อ็อกโทเบอร์ 10 คน มหาวิทยาลัยอเมริกันยูนิเวอร์ซิตี้ 4 คน มหาวิทยาลัยไคโร 6 คน
ในอดีตนักศึกษามาเรียนด้วยทุนส่วนตัวเท่านั้น และศึกษาด้านศาสนาเพียงด้านเดียว ปีนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดโอกาสให้นักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสศึกษาในประเทศอียิปต์ ที่มหาวิทยาลัยไคโร มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีนักศึกษาต่างชาติมากพอสมควร ปี 2551 เป็นปีแรกของโครงการนี้ มีนักศึกษาได้รับทุน 4 คน คือหญิง 2 คน ชาย 2 คน เดินทางมายังอียิปต์ ได้แก่ น.ส.สุไมยะห์ วอเดร์ น.ส.รุสนีซา ยูนุ นายฟัตฮี ซายามะ และนายมูฮัมหมัด ยีปาเนาะ ได้เข้าพบนายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัครราชทูต พร้อมกับคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
"ผมจบจาก ร.ร.บำรุงอิสลาม จ.ปัตตานี ภูมิใจมากที่ได้รับทุนจากกระทรวงการต่างประเทศ ผมมีกำลังใจที่ได้รู้ว่าทางการให้โอกาสกับคนในสามจังหวัดใต้ และสนับสนุนให้ศึกษาที่ประเทศอียิปต์ ตอนนี้เรียนภาษาอาหรับก่อน 1 ปี ก่อนที่จะเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ที่สอนให้รู้เรื่องการใช้ภาษาอาหรับที่ถูกต้อง รวมถึงการพูดอาหรับ ในอนาคตเมื่อจบกลับไป สิ่งนี้น่าจะช่วยสังคมในหมู่บ้านและประเทศชาติได้ และอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนในเรื่องการศึกษา และการแนะแนวให้แก่นักศึกษาในพื้นที่นี้ให้มากกว่าเดิม" นายฟัตฮี ซายามะ กล่าว
เพื่อไขปริศนา "อียิปต์" ดินแดนแห่งความหลากทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา แต่พลเมืองอยู่กันอย่างสันติสุข ทำให้ น.ส.สุไมยะห์ วอเดร์ ใฝ่ฝันอยากมาเรียนที่มหาวิทยาลัยไคโร
"ขอบคุณรัฐที่ให้ทุนพวกหนูได้มาเรียนที่อียิปต์ ที่หนูอยากรู้ว่าทำไมประเทศที่มีความหลากหลายในเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา หรือแม้แต่คนศาสนาเดียวกันถึงอยู่กันได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญอยากเรียนภาษาอาหรับ เพราะสิ่งนี้คือกุญแจสำคัญที่จะนำเราไปสู่ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เพื่อประโยชน์ต่อชาติไทย" น.ส.สุไมยะห์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
น.ส.สุไมยะห์ ยังหวังให้รัฐเข้าไปดูแลส่งเสริมให้เด็กยากจนในสามจังหวัดใต้ได้เรียนรู้ ตอนนี้ครูภาคใต้ที่มีความรู้ได้ออกจากหมู่บ้าน เพราะไม่ไว้ใจสถานการณ์ มีแต่ครูไม่มีความรู้มาสอนแทน ทำให้นักเรียนไม่มีความรู้เต็มที่
ประโยชน์ของการศึกษาก็คือ การได้เรียนรู้ และมีความคิดที่จะพัฒนาประเทศชาติให้ทันกับโลกก้าวไปไม่หยุดยั้ง อนาคตไม่อาจรู้ได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่รู้ว่าวันนี้เรามีการเริ่มต้นที่ดีแล้ว...
0000
ไฟล์ kato : จากซ้ายไปขวา(รูปที่3)
นายมูฮัมหมัด ยีปาเนาะ น.ส.รุสนีซา ยูนุ นายนภดล เทพพิทักษ์ (ท่านทูต) น.ส.สุไมยะห์ วอเดร์ และนายฟัตฮี ซายามะ