คอลัมนิสต์

แอฟริกาจะไปไหนกัน ?

แอฟริกาจะไปไหนกัน ?

01 พ.ค. 2555

แอฟริกาจะไปไหนกัน ?: โลกสาระจิปาถะ โดย กวี จงกิจถาวร

              นครโยฮันเนสเบิร์กส์-ใครมาเที่ยวแอฟริกาใต้หลังการแข่งขันฟุตบอลโลกจะรู้สึกทันทีว่า ทวีปแอฟริกาทั้งทวีปได้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้เป็นเพราะว่าแอฟริกาใต้เป็นตัวอย่างและตัวผลักดันอันสำคัญให้ทวีปแอฟริกาให้เงยหน้าขึ้นมาอย่างสง่างาม ที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะผู้นำเพียงคนเดียว คือแอฟริกาใต้มีรัฐบุรุษ ซึ่งทุกประเทศในทวีปแอฟริการู้จัก เคารพและนับถือ นายเนลสัน แมนเดลลา นั้นเอง อดีตประธานาธิบดี ถือได้ว่าเป็นผู้นำแอฟริกาคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก จึงไม่แปลกผู้นำคนนี้คนเดียวสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้ทั้งประเทศตัวเองและประเทศแอฟริกาอื่นๆอีก 53 ประเทศ พร้อมยังได้ยกระดับฐานะของทวีปแอฟริกาในเวทีการเมืองโลกด้วย
 
              จึงไม่แปลกที่มีเรียกร้องให้เพิ่มประเทศแอฟริกาอย่างน้อยๆ สองประเทศเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงถาวรขององค์การสหประชาชาติ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานของธนาคารโลก มีคนเสนอชื่อรัฐมนตรีการคลังของไนจีเรียเข้าชิงตำแหน่งด้วย
 
              แต่ขีดความสามารถและบารมีของเนลสันมีขอบเขตจำกัด เนื่องจากประเทศแอฟริกาทั้งหลายมีความหลากหลายมากกว่าทวีปอื่น แถมยังมีประเทศแยกสอยออกมามากที่สุดในโลก ก่อนที่ทวีปแอฟริกาจะถูกพวกอาณานิคมเข้ามาปกครอง ทั้งทวีปมีชนเผ่าพร้อมกับผู้นำต่างๆ ถึงหนึ่งหมื่นกว่ากลุ่มที่มีวัฒนธรรม ภาษาประเพณีไม่เหมือนกัน พวกนักล่าอาณานิคมจากยุโรปทั้งหลายได้เข้ารุกรานและจับจองพื้นที่ รวมทั้งแบ่งแยกดินแดนใหม่ จนทำให้แอฟริกาในอดีตไม่เป็นผู้เป็นคน จนเหลือเพียงสี่สิบอาณานิคมและเขตปกครอง
 
              แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลแลนด์ เบลเยียม อิตาลี และโปรตุเกส ได้ตกลงแบ่งเขตดินแดนประเทศเหล่านี้ ทำลายความเป็นชาติพันธุ์ของแอฟริกาอย่างไร้ความปรานี สร้างความรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งยั่งยืนอยู่ทุกวันนี้ ตัวอย่างมีคองโกที่อยู่ในอาณัติฝรั่งเศสและเบลเยียม โซมาเลียที่ขึ้นอยู่กับอิตาลี อังกฤษและฝรั่งเศส เป็นต้น
 
              ขณะนี้ความรู้สึกที่ว่ายุโรปยังอยากเข้ามาครอบครองและพยายามฉุดไม่ให้ทวีปแอฟริกาพัฒนาก้าวหน้าต่อไปยังฝั่งอยู่ในหัวของปัญญาชนบางกลุ่มในแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศที่มีชนชั้นมากขึ้น ในเคนยา แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย แองโกลา เป็นต้น ชนชั้นกลางเหล่านี้ต้องการเห็นคนพื้นเมืองมีพลังทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิม
 
              ประเทศแอฟริกามีความภาคภูมิในความเป็นชาติพันธุ์ของตัวเองมาก พยายามจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาร่วม กลุ่มสหภาพแอฟริกาพัฒนาไปไกลกว่าอาเซียนหลายเท่า โดยเฉพาะทางด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนของเราเสริมสร้างสัมพันธ์เศรษฐกิจได้ดีกว่า ที่แปลกแอฟริกามีความสามัคคีมากกว่าอาเซียนเวลามีปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่ม ผู้นำจะไม่รอช้า มีการประชุมฉุกเฉินทันที เพื่อหาทางยุติ ที่ผ่านมากองกำลังรักษาสันติภาพแอฟริกาได้เข้าไปมีบทบาทในหลายๆ ประเทศที่สงครามกลางเมืองหรือรัฐประหาร
 
              แอฟริกาไม่เหมือนเดิม จะเดินไปทางไหนกันต้องติดตาม