คอลัมนิสต์

หน้าศก./เอสแอนด์พี-ฟิทช์หั่นเครดิตไทย

หน้าศก./เอสแอนด์พี-ฟิทช์หั่นเครดิตไทย

11 ธ.ค. 2551

หน้าศก./เอสแอนด์พี-ฟิทช์หั่นเครดิตไทย ชี้การเมืองลามฉุดเศรษฐกิจ-มองปีหน้าจีดีพีเหลือ 0.9% บริษัทจัดอันดับเครดิตพร้อมใจหั่นเครดิตประเทศไทย "เอสแอนด์พี-ฟิทช์" ให้อยู่ในระดับติดลบ ชี้ความเสี่ยงด้านการเมืองเพิ่มขึ้น ลุกลามกระทบเศรษฐกิจหนัก มองสถานการณ์ยืดเยื้อหนัก ฟิทช์ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตแค่ 0.9% นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงถึงกรณีบริษัทสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ปรับลดแนวโน้มระดับเครดิตของไทย ว่าเป็นการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตประเทศจากระดับที่มีเสถียรภาพเป็นระดับที่ติดลบ อย่างไรก็ตาม เอสแอนด์พียังยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาทที่ระดับ A/A-1 สาเหตุของการปรับลดแนวโน้มเครดิตประเทศ เนื่องจากการยึดครองสนามบินทั้ง 2 แห่งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นเหตุบ่อนทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเป็นไปได้ที่ความรุนแรงดังกล่าวจะแผ่ขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความกดดันทางด้านลบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อประเทศไทย "เอสแอนด์พีระบุด้วยว่า คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยังคงยืดเยื้อต่อไป แม้สนามบินทั้ง 2 แห่งจะเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยความเสี่ยงของประเทศไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากความแตกแยกที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความได้เปรียบในการเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุน แต่การใช้จ่ายในการลงทุนก็มีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวลงในระยะใกล้ถึงระยะปานกลาง ซึ่งการเติบโตในระยะปานกลางของประเทศไทยและฐานะการคลังของรัฐบาลคาดว่าจะเสื่อมถอยลง" นายพงษ์ภาณุกล่าว เช่นเดียวกัยฟิทช์ เรทติงส์ ที่ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยเป็นลบ โดยนายวินเซนต์ โฮ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ กล่าวว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยครั้งนี้ สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานานไม่มีแนวโน้มที่จะจบลงโดยเร็ว และอาจบั่นทอนพื้นฐานทางเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย และการบริหารประเทศไม่มีประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือ นโยบายทางเศรษฐกิจอาจถูกละเลยหรือเกิดความผิดพลาด ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาการหดตัวอย่างแรงของเศรษฐกิจ "ฟิทช์เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ท้าทาย เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่คาดว่าจะลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง" นายโฮระบุ ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของไทยได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางการเมืองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายภาครัฐบาลได้ปรับตัวลดลง และได้ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 อยู่ที่ 0.9% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดหลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540-2541