คอลัมนิสต์

คำพิพากษาคดียุบพรรคชาติไทย

คำพิพากษาคดียุบพรรคชาติไทย

11 ธ.ค. 2551

คำพิพากษาคดียุบพรรคชาติไทย นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคชาติไทย โดยมีข้อที่ต้องวินิจฉัย 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยและกรรมการบริหารพรรคชาติไทย กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 หรือไม่ ประเด็นที่ 2 มีเหตุสมควรจะยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่ ประเด็นที่ 3 หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารของผู้ถูกร้องต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ประเด็นข้อที่ 1 เห็นว่า การกระทำความผิดของนายมณเฑียร ได้ผ่านกระบวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วอันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 239 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 อันเป็นกระบวนการองค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 239 วรรค 1 บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าวได้ ประเด็นต่อมา คือ มีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 บัญญัติไว้เป็นการเด็ดขาดว่า ถ้ามีการกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการหรือมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ก็ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่บัญญัติไว้เด็ดขาดแล้ว แม้ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ จึงถือได้ว่ามีเหตุตามกฎหมายที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า สมควรยุบพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องหรือไม่ ประเด็นที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า พรรคได้กำหนดมาตรการป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคผู้ถูกร้องกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบและประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยจัดประชุมชี้แจงให้ผู้สมัครทราบแล้วนั้น ศาลฯ เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว แม้หากได้กระทำจริงก็มิได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคไปทำผิดเสียเอง เพราะในกรณีเช่นนั้นย่อมเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่า มาตรการต่างๆ ที่จัดทำไปนั้นมิได้ผลบังคับใช้แต่อย่างใด กรณีจึงมีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีงามเพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งป้องปรามมิให้เกิดกระทำความผิดซ้ำอีก ประเด็นที่สาม หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ศาลฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 237 วรรค 2 บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลา 5 ปี บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับตามกฎหมายว่าเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคแล้วจะต้องเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคขณะการทำความผิดเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญโดยมติ 8 ต่อ 1 จึงวินิจฉัยว่าให้ยุบพรรคชาติไทย เนื่องจากนายมณเฑียร กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2 จึงให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่กระทำความผิดเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค