คอลัมนิสต์

หน้าศก./แบงก์ฟันธงกนง.ลดดอกเบี้ยแค่0.5%

หน้าศก./แบงก์ฟันธงกนง.ลดดอกเบี้ยแค่0.5%

11 ธ.ค. 2551

หน้าศก./แบงก์ฟันธงกนง.ลดดอกเบี้ยแค่0.5% เอกชนคาด กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ชี้หากลดมากห่วงส่งสัญญาณเศรษฐกิจแย่เกินไป มองปีหน้าลดลงต่อเนื่องเหลือ 2-2.5% คลังเห็นพ้อง ธปท. ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในการดูแลเศรษฐกิจ น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง น่าจะทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% และลดลงต่อเนื่องอีกหลายครั้งในปีหน้า ซึ่งหากปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ถึง 2% ตามที่คาดกัน และเงินเฟ้อขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 1% กว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ด้าน ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า ธปท.น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมากที่ 0.5% เนื่องจาก ธปท.มีความเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากนัก อีกทั้งยังมีผลข้างเคียง เช่น ผลต่อการออม และการกู้ยืม อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยรุนแรงอาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจแย่เกินไปด้วย "ส่วนตัวผมคิดว่า ธปท. น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ถึง 1% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ได้รับผลกระทบหนักมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ควรลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและแรง เพื่อบรรเทาผลกระทบของการกู้ยืมได้ด้วย" ดร.บันลือศักดิ์กล่าวและว่า คาดว่า ธปท.น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปีหน้า จนทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยในปลายปีหน้าลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2-2.5% ด้าน ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลัง ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าหารือในช่วงเย็นวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ธปท.ได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน ในปีหน้าที่ 0.5-3.0% ซึ่งต่ำลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ ที่ตั้งไว้ที่ 0-3.5% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม และเป็นช่วงที่แคบลง เป็นช่วงเงินเฟ้อที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ ดร.สุชาติยังเห็นด้วยกับ ธปท.ที่ใช้วิธีกำหนดเป้าหมายการเงินเฟ้อพื้นฐาน เป็นเงินเฟ้อเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นการใช้เงินเฟ้อทั่วไป ตามที่มีข้อเสนอก่อนหน้านี้ เพราะเงินเฟ้อทั่วไป ที่รวมเอาราคาอาหารและพลังงาน มาคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยนั้น ทำให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อมีความผันผวน ขึ้นลงตามราคาอาหารและพลังงาน "ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราต้องระวังอย่าให้ระดับเงินเฟ้อติดลบ เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้" ดร.สุชาติกล่าว