คอลัมนิสต์

'จับตาดวงดาวกับดวงรัฐบาล'

'จับตาดวงดาวกับดวงรัฐบาล'

27 ม.ค. 2555

'จับตาดวงดาวกับดวงรัฐบาล' : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์

             เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยกับนักโหราศาสตร์เกี่ยวกับดวงเมืองและทิศทางบ้านเมืองหลังการปรับเปลี่ยน "คณะรัฐมนตรีปู 2" คำแรกที่ "โหร" ท่านนี้กล่าวคือ "วุ่นวาย" จุดเริ่มต้นอาจไม่ใช่มาจากรัฐบาลโดยตรง แต่มีความเกี่ยวโยงที่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย เพราะดวงดาวบอกอย่างนั้น
 
               สิ่งที่ปรากฏจะเป็นจุดเริ่มและเกี่ยวโยงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้มี 3 องค์ประกอบ คือ "กองทัพ-รัฐบาล-ความยุติธรรมหรือกฎหมาย"
 
               โดยทั้ง 3 องค์ประกอบจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป
 
               จากคำทำนายของโหรก็ทำให้ต้องมานั่งพินิจและวิเคราะห์จากสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเป็นไปในขณะนี้มีความใกล้เคียงคำทำนายโดยเฉพาะเรื่องการ "แก้ไขกฎหมาย" ที่คนหลายกลุ่มเริ่มจะมีความเคลื่อนไหว ทั้งวงสัมมนา หรือการลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายในเรื่องต่างๆ
 
               เริ่มตั้งแต่ความเคลื่อนไหวการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา "กลุ่มสภาประชาชนไทย" นำโดย "ยอดเยี่ยม ศรีมันตะ" ประธานสภาประชาชนไทย พร้อมด้วยประชาชนในเครือข่ายกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนจำนวน 65,400 รายชื่อ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานสภาผู้แทนราษฎร
 
               ส่วนกลุ่มประชาชนอีกกลุ่มนำโดย "นิรันดร์ ด่านไพบูลย์" ที่มี "สงวน พงษ์มณี" ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ประสานงานให้จะเข้ายื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนต่อประธานสภา เวลาประมาณ 12.00 น.วันที่ 1 กุมภาพันธ์
 
               นอกจากนี้มีกลุ่มของ "ธิดา ถาวรเศรษฐ" รักษาการประธานกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือคนเสื้อแดง เตรียมยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชน เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานสภา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้
 
               จากนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงนำโดย "ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง เตรียมจัดงานใหญ่ชูธงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเชิญชวนคนเสื้อแดงไปชุมนุมใหญ่ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ นครราชสีมา ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
 
               ขณะที่ความเคลื่อนไหวของส.ส.หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ "สงวน" จะนัดพูดคุยกับส.ส.เพื่อขอรายชื่อเสนอร่างของส.ส.เข้าสู่การพิจารณาด้วย ซึ่งคาดว่ากว่าจะมีการตรวจความถูกต้องเรื่องต่างๆ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาก็ประมาณเดือนมีนาคม
 
               นี่ถือเป็นความเคลื่อนไหวของการเดินหน้า "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทั้งในส่วนของภาคประชาชนและนักการเมือง
 
               ไม่รวมถึงความเคลื่อนไหวของ "ส.ส.เพื่อไทย" ที่เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพราะเห็นว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้ "กองทัพ" เป็นรัฐอิสระเกินไป ทั้งที่มีผู้บังคับบัญชาคือ "รมว.กลาโหม" แต่ไม่สามารถเข้าไปบริหารเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายได้
 
               ซึ่งเรื่องนี้มีหลายคนเป็นห่วงความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกองทัพอาจมีปัญหาได้ในอนาคต
 
               ส่วนความเคลื่อนไหวในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งขณะนี้เริ่มเป็นประเด็นใหญ่เรียกความสนใจจากสังคมในหลายระดับ มีทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน
 
               โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ "กลุ่มนิติราษฎร์" นำโดย "รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
 
               โดยเฉพาะ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้ค่อนข้างดุเดือดว่า "อยากฝากถึงนักวิชาการบางกลุ่มว่า ต้องกลับไปทบทวนว่าตลอดระยะเวลาที่พระองค์ท่านทรงครองราชย์มาจนทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษาแล้ว แต่คนที่เป็นนักวิชาการอายุเพียงแค่ 30-40 ปี เรียนหนังสือจบมาแล้วไปเรียนต่อ เคยได้ทำคุณประโยชน์อะไรให้แก่แผ่นดินบ้างหรือไม่ หรือแค่เรียนจบมาแล้วเอาความรู้มาคิดจะแก้โน่นแก้นี่ และไม่เข้าใจว่า สถาบันมีคุณต่อแผ่นดินอย่างไร"
 
               ขณะที่ "รัฐบาล" แสดงท่าทีที่ชัดเจนจะไม่แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ยืนยันรัฐบาลไม่แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเห็นว่าไม่ควรดึงสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน วอนทุกฝ่ายร่วมกันปกป้อง
 
               ส่วน "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี ก็ย้ำเสียงหนักแน่นกรณีกลุ่มอื่นเสนอแก้ไข โดยบอกว่า บางครั้งไปแสดงออกและคิดเองว่าจะแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เอาอำนาจอะไรไปแก้ ไม่มีสิทธิ พูดได้ พรรคไม่แก้มาตรานี้เด็ดขาด ใครแก้ ผมค้าน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพได้ แต่จะเสนอแก้กฎหมายอย่างอื่นไม่ได้ ใครนึกและคิดเรื่องนี้ก็ผิดแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
 
               ด้าน "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า "พรรคไม่มีนโยบายแก้ไข มาตรา 112 อยู่ในหัว"
 
               ถือเป็นคำพูดยืนยันของรัฐบาล จากนี้ไปให้จับตาดูขั้นตอนการปฏิบัติของรัฐบาลจะตรงกันข้ามกับคำพูดหรือไม่
 
               โดยเฉพาะการนัดชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เขาใหญ่กลางเดือนหน้า อยากเห็น "ตู่" จตุพร ประกาศให้ชัดบนเวทีจะไม่มีการแก้ไขกฎหมายในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
 
               อย่างน้อยก็ให้สังคมมั่นใจว่า คนเสื้อแดงกับรัฐบาล "คิด พูด ทำ" ในทิศทางเดียวกัน "อย่าปากว่าตาขยิบ" เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นรอบใหม่ ดังคำทำนายปิดท้ายของโหรที่บอกว่า "วุ่นวายและรุนแรงกว่าปี 2553 แน่นอน"

............

(หมายเหตุ : "จับตาดวงดาวกับดวงรัฐบาล" : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)