ศาลสองมาตรฐาน
ศาลสองมาตรฐาน : บทบรรณาธิการ
แม้กระทั่งการอภิปรายในวาระการเสนอนโยบายรัฐบาล ก็ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของศาลที่คนเสื้อแดงเชื่อว่า สองมาตรฐาน หากเมื่อมีคำพิพากษาในคดีเลี่ยงภาษีบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 546 ล้านบาท ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และรอการลงโทษนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ หลังจากลดโทษจำคุกจาก 3 ปี เหลือ 1 ปี ด้วยเหตุที่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เคยฝากเงินสนับสนุนมูลนิธิไทยคมจำนวนมาก คำว่า สองมาตรฐาน ก็ได้รับการยกเว้นไม่กล่าวถึง ยกเว้น นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีความเห็นแย้งในกรณีการรอการลงโทษนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งจะปรากฏต่อไปในสำนวนคดีที่อาจมีการฎีกา นี่เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกันระหว่างการวิจารณ์ศาลด้วยอคติ กับการวิจารณ์ศาลในเชิงวิชาการ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าศาลไม่สามารถแตะต้องได้เลย
ก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ได้เสนอคำถามอย่างสำคัญต่อความเป็นไปของสถาบันศาล ที่ปกติเป็นคล้ายแดนสนธยา ที่สังคมภายนอกมีความรู้น้อย อีกทั้งมีความเชื่อว่า สถาบันศาลไม่อาจแตะต้อง ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ หาไม่แล้วจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นี่ย่อมเป็นความจริงประการหนึ่ง หากการวิพากษ์วิจารณ์ศาลสะท้อนภาวะอารมณ์ของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคำพิพากษานั้น หรือใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกล่าวถึงศาลในเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าหากการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งอยู่บนหลักฐานและมุมมองทางวิชาการ เพื่อเป็นการถ่วงดุล และเพื่อให้มีความถี่ถ้วนระมัดระวัง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม บทบาทเช่นนี้น่าจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ และศาลที่มีใจเปิดกว้างก็คงยินดีที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น
กรณีของศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักมีข้อครหาอยู่เสมอว่า การตัดสินหรือวินิจฉัยคดีผันแปรไปตามอำนาจทางการเมือง ตุลาการบางคนในทั้งสองศาลก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจการเมืองไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่งเสมอ ในขณะเดียวกันก็ปรากฏข่าวคราวในการวิ่งเต้นคดีต่อสาธารณะเนืองๆ เช่น กรณีถุงขนม 2 ล้านบาท ที่นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ระหว่างพิจารณาคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ซึ่งในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกทนายเป็นเวลา 6 เดือน ต่อมานายพิชิตคือส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
ควรให้สังคมเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า สถาบันข้าราชการตุลาการนั้น หาได้อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ หากแต่บทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรเป็นบทบาทของนักวิชาการ และสื่อสารมวลชน ที่ต้องกระทำอย่างสุจริต ตรงไปตรงมาและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายพอสมควร ในเชิงหลักการแล้ว ไม่ควรมีสถาบันใดสถาบันหนึ่งของสังคมที่ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระและเอกเทศ โดยไม่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลเลย โดยเฉพาะสถาบันที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ นักวิชาการและสถาบันสื่อมวลชนจะต้องมีบทบาทในการนำความคิดของสังคมเพื่อให้สถาบันศาลมีธรรมาภิบาล ตรวจสอบ และวางใจได้ เช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ