Lifestyle

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ทุเรียน” ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง แต่ภายใต้ความหรูหราของผลไม้ชนิดนี้ มีเรื่องราวแห่งการสร้าง การต่อยอด และการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่น่าสนใจซ่อนอยู่

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน  เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

ประพัฒน์ จันทร์พราหมณ์ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนวังหว้า 2 อ.แกลง จ.ระยอง กล่าวว่า  เริ่มปลูกทุเรียนได้ประมาณ 6 ปีกว่า จากแต่ก่อนทำธุรกิจเต็นท์รถมือสอง แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยดียอดขายตกลงจึงกลับมาช่วยทางบ้านดูแลกิจการสวนทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่มีมูลค่าดีทำรายได้อย่างดี

เรื่องราวก็ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการทำสวนทุเรียนในอดีตเผชิญปัญหาความแห้งแล้ง ผลผลิตทุเรียนที่ได้ไม่ค่อยดี ซ้ำยังมีปัญหาแมลงศัตรูพืช และโรคพืชต่างๆ และในจังหวะที่ราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงเปลี่ยนจากสวนทุเรียนมาเป็นสวนยางพารา แต่จนแล้วจนรอดและเป็นธรรมดาของธุรกิจคือมีคนปลูกจำนวนมากขึ้นราคายางพาราตกต่ำลง

จึงมาถึง“จุดเปลี่ยนอีกครั้ง” เมื่อกรมชลประทานนำน้ำเข้ามาในพื้นที่  จนนำไปสู่การเปลี่ยนจากสวนยางพาราเพื่อกลับไปปลูกทุเรียนแต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนเพราะมีน้ำและมีการจัดการน้ำที่ดีด้วย

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน  เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

ทั้งนี้ ก่อนที่กรมชลประทานจะจ่ายน้ำจะมีการประชุมเรื่องของการแบ่งสันปันส่วนน้ำให้เกษตรกร ทำให้ทุเรียนไม่ขาดน้ำและได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ชาวบ้านไม่มีความกังวลเรื่องน้ำ  ซึ่งเรื่องของการจ่ายน้ำจะมีการกำหนดกติการ่วมกัน ที่ว่าด้วยทุกสวนต้องมีบ่อ เพื่อพักน้ำไว้แล้วจึงจะสามารถสูบไปใช้ในส่วนได้ ไม่อนุญาตให้จั้มกับท่อของกรมชลประทานโดยตรง

 "นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการกลับมาปลูกทุเรียนที่กรมชลประทานเข้ามาดูแลเรื่องการจัดสรรบริหารน้ำเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำและดูแลคุณภาพน้ำ และแน่นอนผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี”

พอทุกอย่างเริ่มลงตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ น้ำ ผลผลิตที่ออกมาก็มีคุณภาพแล้ว จึงคิดเรื่องการต่อยอดเรื่องการขายที่สอดคล้องกับผลผลิตที่มากขึ้นด้วย

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน  เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

จึงมีการนำเอา"เทคโนโลยี"เข้ามาใช้ในการจัดการสวน ไม่ว่าจะเป็น รถแอร์บัส ที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนแรงงาน การฉีดยา รวมไปถึงการทำบ่อกังหัน ที่นอกจากจะใช้เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ภายในสวนแล้ว ยังช่วยเรื่องการดูแลคุณภาพน้ำที่ดีอีกด้วย

ตอนนี้มีผลผลิตที่ดีแล้ว แต่สุดท้ายก็วนกลับมาปัญหาเดิม คือ เรื่องของราคา เพราะกำหนดราคาเองไม่ได้ ทางล้งจะกดราคาค่อนข้างมาก นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลง การปรับเพื่อขยับตัวอีกครั้ง โดยนำแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันจนเป็นโครงการแปลงใหญ่

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน  เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

เมื่อรวมกลุ่มกันก็มีอำนาจต่อรองกับมากขึ้น  ซึ่งทางกลุ่มกำหนดให้มีการประชุมทุกวันที่ 27 ของเดือน เพื่อหารือกันตั้งแต่ประเด็นการผลิตไปจนถึงการตลาด การวางแผนนำ

โซเซียลมีเดียมาทำตลาดร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ลงเฟซบุ๊ค ลงเพจเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญที่ต้องการสื่อสารกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการผลิต สวนที่ปลอดสารพิษ ไม่ใช่ยาซึ่งถือเป็นจุดขายอย่างหนึ่ง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นรวมไปถึงราคาที่ได้ก็ไม่ต้องไปรอแต่ทางล้งให้เป็นผู้กำหนด

“กว่าจะถึงตรงนี้ ผมเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย จนมามีกลุ่มแปลงใหญ่ เชื่อว่าทุกอย่างถ้าเราจริงจังกับมัน ขอแค่จริงใจ และตั้งใจจริงไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร สามารถประสบความสำเร็จได้”

“น้ำ”ชุบชีวิตสวนทุเรียน  เกษตรดิจิทัลฟื้นชุมชน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ