Lifestyle

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด The Sustainable Consumer ชวนรับผิดชอบต่อโลก พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสิทธิขนส่งสาธารณะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล

ปี 2563 ที่ผ่านมา ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลและองค์กรสมาชิกกว่า 200 องค์กร จาก 115 ประเทศทั่วโลก  จึงได้พร้อมใจกันจุดประเด็นให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักต่อความรับผิดชอบมากขึ้น

ภายใต้แนวคิด “The Sustainable Consumer” สหพันธ์ฯ ได้มุ่งสื่อสารรณรงค์ 5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโลกร้อน ได้แก่ 1) การเรียกร้องข้อมูลเรื่องความยั่งยืนของสินค้า 2) การขนส่งที่ยั่งยืน การเดินทางโดยใช้บริการ Sharing 3) แฟชั่นหมุนเวียน 4) หีบห่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 5) สินค้าที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น

ในขณะที่นานาประเทศ กำลังมีการรณรงค์ประเด็นความรับผิดชอบผู้บริโภคที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ผู้บริโภคบ้านเรา อาจสะท้อนใจเล็กน้อยเมื่อพบว่า ประชาชนคนไทยยังต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้กลไกต่างๆ หันมาคุ้มครองตัวเองอยู่

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะสมาชิกสามัญของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล เอ่ยว่า แทนที่คนไทยจะได้ไปร่วมคิดว่าจะมีบทบาทในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร วันนี้ ผู้บริโภคไทยยังคงติดกับดักปัญหาความย่อหย่อนในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานที่กำกับรับผิดชอบ ที่มีทัศนคติมักคิดในมิติเป็นคนกลาง ไม่กล้าตัดสินใจ เพราะมองแต่ว่าจะทำธุรกิจให้เสียหาย

“ความจริง ทุกวันนี้ผู้บริโภคไทยใช้สิทธิ์กันมากขึ้น และรู้ว่าจะใช้สิทธิ์ช่องทางไหน แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือกลไกการแก้ปัญหายังตามไม่ทันการใช้สิทธิผู้บริโภค และมองว่ามีข้อจำกัด” สารีฉายภาพสถานการณ์สิทธิผู้บริโภคไทยให้ฟัง

โดยยังยกตัวอย่างหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น บริษัทรถยนต์แบรนด์อเมริกาที่เพิ่งประกาศปิดตัวในไทย ถ้าเป็นในประเทศอื่น ผู้บริโภคจะต้องมีเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านหรือได้รับการสื่อสารให้รับทราบล่วงหน้าเสียก่อน หรืออย่างกรณีหน้ากากอนามัย ที่บางบริษัทลอบส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ จนทำให้เกิดขาดตลาด หรือการขายเกินราคา

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด The Sustainable Consumer ชวนรับผิดชอบต่อโลก พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสิทธิขนส่งสาธารณะ

เธอเอ่ยว่า ต้องยอมรับว่าเราก้าวไม่ผ่านข้อจำกัดนี้ ตราบใดที่ทุกคนยังมองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคจะทำให้ธุรกิจเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสิทธิให้กับประชาชน

“ลองนึกภาพคนที่ฟ้องร้องแล้วคดีชนะ แน่นอนว่าเราก็อยากได้รับการเยียวยา เช่น ผู้โดยสาร ที่ประสบกับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารของบริษัทเปรมประชาที่เชียงใหม่ ซึ่งสามารถฟ้องร้องคดีชนะแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับค่าเยียวยา เพราะบริษัทอ้างว่าตัวเองล้มละลายไม่มีเงินจ่าย ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนมากำกับดูแล แต่ล่าสุดบริษัทกลับเพิ่งได้รับสัมปทานให้วิ่งรถจากทางขนส่งจังหวัดต่อ หรือชาวชุมชนซอยร่วมฤดีที่ลุกมาฟ้องตึกสูงที่สร้างผิดกฎหมายการก่อสร้างในกรุงเทพมหานครแล้วชนะ แต่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้จนปัจจุบัน” สารีเล่า

อุปสรรคดังกล่าวนี้เอง เป็นต้นเหตุที่ทำให้กลไกการดูแลสิทธิผู้บริโภคไทยยังคงอ่อนแอ จนอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการที่ตนเองจะสู้เพื่อสิทธิให้ได้รับความคุ้มครอง หรือการเยียวยา

แต่หากเรายังปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดมากจนเกินไป สารีมองว่า ย่อมเท่ากับเป็นการยินยอมให้เราเองถูก “ละเลย”

“การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ไม่ควรคิดว่าเขาเป็นคนกลาง เพราะที่จริงเขาควรมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเราไม่เชื่อว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ แต่เราเชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการในประเทศไทย และยิ่งทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ถือเป็นการสร้างโอกาสการแข่งขันกับนานาประเทศ

ซึ่งดิฉันคิดว่าประชาชนต้องลุกขึ้นมาจี้ ติดตาม และทำให้เป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง”

อย่างไรก็ดีในปีนี้นอกจาก มพบ. สสส. และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จะสนับสนุนประเด็นการบริโภคอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเดินหน้าสื่อสารผลักดันเชิงนโนบายในประเด็นรถโดยสารรถสาธารณะ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็นจาก Sustainable Consumer

“ปีนี้เราชวนคนหลายกลุ่มซึ่งมีทั้งบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจในสังคม และภาคีภาคประชาสังคม มาเป็นกระบอกเสียง มาฝันเรื่องบริการขนส่งมวลชนร่วมกัน”

เพราะข้อมูลล่าสุดจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในการเดินทางเมื่อเทียบอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนกรุงเทพมหานคร หากเป็นรถไฟฟ้าทุกระบบทั้ง BTS MRT และ ARLจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28% หรือหากใช้รถเมล์ ขสมก. ปรับอากาศก็มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 15-16% ส่วนรถเมล์ร่วมบริการอยู่ที่ 14% ขณะที่ในปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3% ลอนดอน 5% โตเกียว 9% และสิงคโปร์ 5% เท่านั้น

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด The Sustainable Consumer ชวนรับผิดชอบต่อโลก พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสิทธิขนส่งสาธารณะ

 

นั่นเท่ากับคนกรุงเทพต้องเสียค่าเดินทางต่อวันที่แพง และค่อนข้างสวนทางกับคุณภาพของบริการขนส่งสาธารณะ

“ความจริงคือประชาชนเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ต้องใช้จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า จึงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประชากรเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างปลอดภัย เท่าเทียมเป็นธรรม” เลขาธิการ มพบ. กล่าว

ที่สำคัญเมื่อขนส่งมวลชนมีคุณภาพน่าใช้บริการแล้ว จะสามารถลดจำนวนรถบนท้องถนนได้ตามไปด้วย

“ทำไมประเทศเหล่านี้ทำได้ ทั้งที่เขามีค่าแรงขั้นต่ำที่น่าสูงกว่าเรา ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมตรวจสอบ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของเราทั้งนั้น” เธอกล่าว และว่าขณะเดียวกันผุ้บริโภคก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทุกวันนี้เราใช้รถส่วนตัวกันถึง 43% แต่ใช้ขนส่งสาธารณะเพียง 24% เท่านั้น

“ซึ่งถ้าคุณอยากให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี คุณยังใช้รถส่วนตัวกันแบบนี้ มันจะเกิดขึ้นหรือไม่”

 สารีแนะนำสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเรามีสิทธิทำได้ คือต้องเริ่มต้นตั้งคำถามเหล่านี้  อาทิ ถนนหน้าบ้านเราทำไมสร้างนานเหลือเกิน หรือทำไมไม่มีคุณภาพเลย ทำไมเรายอมให้ฟุตบาตเปลี่ยนทุกสามปี มาตรฐานการให้บริการกับกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ มีระบบที่จะดูแลพิเศษอย่างไรบ้าง หรือเราอยากเห็นป้ายรถเมล์ทุก 500 เมตรหรือไม่ รวมถึงในกรณีสัญญาสัมปทานทางด่วน หรือโทลเวย์ หรือบริการขนส่งสาธารณะ ที่มักมีการขึ้นราคาต่อเนื่อง

“ไม่มีประเทศไหนที่ยิ่งขึ้นยิ่งใช้ยิ่งแพง  แล้วเราไปฟ้องร้องก็ยังไม่มีคำตอบ ทั้งจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง แม้แต่กระบวนการยุติธรรม จริงๆ บทบาทการกำกับราคาควรอยู่ในมือรัฐ และทำหน้าที่เพื่อประชาชนแท้จริง”

“การพึ่งรัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ทุกคนควรรับรู้ แต่ไม่ควรหมดกำลังใจ ดิฉันคิดว่าเราต้องลงมือด้วยตัวเอง แม้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจำเป็นต้องการการสนับสนุนจากสาธารณะและมวลชนมากๆ ว่าเราไม่ยอมให้เกิดสัญญาสัมปทานแนวนี้เกิดขึ้นอีก”

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด The Sustainable Consumer ชวนรับผิดชอบต่อโลก พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสิทธิขนส่งสาธารณะ

ส่วนในประเด็นสิ่งแวดล้อม การรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากการที่ทุกๆ หนึ่งนาที มีขวดพลาสติกถูกจำหน่ายออกไปกว่า 1 ล้านขวด ในขณะที่พลาสติก 50,000 ล้านชิ้นลอยอยู่ในทะเล คนซื้อเสื้อผ้ากันปีละ 80,000 ชิ้น และบริโภคอาหารปีละ 3,900 ล้านตัน โดยหนึ่งในสามของอาหารที่ยังบริโภคได้เหล่านั้นถูกทิ้งอีกด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนกระทบต่อผู้บริโภคทั้งทางตรงและทางอ้อม

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า สสส.ให้ความสำคัญกับแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมทำหน้าเฝ้าระวัง สร้างและจัดการความรู้ รวมทั้งแผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ สนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย ดำเนินการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งแม้เป็นเรื่องยากที่จะหยุดการบริโภคแบบไม่ยั่งยืนในระดับที่เป็นอยู่ แต่หากผู้กำหนดนโยบายเห็นความสำคัญ และประชาชนให้ความร่วมมือ เป็นผู้บริโภคที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าจะสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้สิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มพบ. สสส. มหาวิทยาลัยรังสิต และภาคีเครือข่ายได้จัดแคมเปญออนไลน์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2563 (วันสิทธิผู้บริโภคไทย) โดยมีกิจกรรมถ่ายทอดสดการเสวนา Dream Talk ภาพฝันจากผู้บริโภคสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตัวแทนผู้บริโภคที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายวงการ พร้อมร่วมสนุกกับกิจกรรมแชะ แชะ แชร์ แชร์ ปัญหาที่กระทบต่อผู้บริโภค ฯลฯ ผ่านทางเฟซบุ๊ก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และเว็บไซต์ https://www.consumerthai.org/

วันสิทธิผู้บริโภคสากล 2020 ชูแนวคิด The Sustainable Consumer ชวนรับผิดชอบต่อโลก พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสิทธิขนส่งสาธารณะ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ