Lifestyle

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อานิสงส์จากการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทย ยังส่งผลทำให้แนวโน้มผู้ใช้สารเสพติดลงดลง โดยข้อมูลจากงานแถลงข่าว “สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลงหรือโดดเพิ่มขึ้น” ที่จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มาร่วมเปิดโพลผลสำรวจสะท้อนชัดว่าในช่วงโควิด-19 พบนักเสพใช้สารเสพติดลดลง

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB)  เปิดเผยผลสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป  จำนวน 1,825 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี อยุธยา นครปฐม เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น  นครราชสีมา  อุดรธานี  อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา เมื่อวันที่  20-24 พฤษภาคมหรือ ในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย

ขณะที่การสำรวจยังได้ถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเสพติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อมลดลง เช่นเดียวกับสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ที่ระบุดื่มลดลงร้อยละ 56.4 และส่วนการสูบบุหรี่ที่มีสถิติสูบลดลงร้อยละ 28.1 แม้จะยังไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือ ร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย  ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบเห็น/ รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6  ยังพบเห็น และรับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน โดยผู้ขายครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน แต่ก็ยังมีข้อมูลจากกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6  ในสถานการณ์ช่วงโควิด ว่าเพราะเกิดจากความเครียด เบื่อหน่าย และมีเวลาว่างมาก   

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

“แต่ในระยะที่ 3 พบสถิติมีผู้ที่กลับมาใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นทันทีร้อยละ 20 ดังนั้นมองว่า ถ้ารัฐปล่อยไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรรองรับ สถานการณ์จะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะคนที่ติดยาเมื่อคลายล็อกทุกอย่าง จะรีบเสพทันที หรือเสพมากขึ้น อาจเกิดอาการโอเวอร์โดส ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น สังคม ชุมชน ครอบครัวและคนรอบตัวต้องช่วยกันดูแลเบื้องต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น”

ส่วนในกลุ่มเด็กเยาวชน ดร.สุริยันแนะนำว่าควรใช้โอกาสนี้ในการรณรงค์เพื่อไม่ให้เด็กรุ่นใหม่เข้าสู่วังวนการเสพติด

“เด็กบางคนไม่ได้ติดสารเสพติดเพราะปัจจัยเชิงจิตวิทยา หรือว่ามีปัญหาแล้วต้องการหาทางออก แต่เขาไปตามเพื่อน ต้องการพื้นที่ในสังคม อยากมีตัวตน ต้องการการยอมรับ  ผมมองว่า เด็กสมัยนี้เขาไม่ได้เชื่อฟังพ่อแม่หรือครูอาจารย์ แต่เขาฟังคนที่เป็นไอดอลของเขา หรือดารา เพื่อน รุ่นพี่ เราควรให้คนเหล่านี้ช่วยการสื่อสารและชี้นำไม่ให้เขาเข้าใกล้”

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก.  เสริมข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการสำรวจรวมกัน เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย ซึ่งผลศึกษาเบื้องต้นพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงร้อยละ 42-62 และมีการใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ SAB

“เป็นสิ่งที่เราคาดการณ์อยู่แล้วว่าด้วยมาตรการการมีระยะห่าง และมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้โควิดลดลง มีส่วนช่วยลดการใช้สารเสพติดด้วยเช่นกัน ประกอบกับทุกคนห่วงสุขภาพตัวเองมากขึ้น เพราะไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ถี่ขึ้น การซื้อขายในยามวิกาลทำได้ยากเพราะมีเคอร์ฟิว”

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

อย่างไรก็ดี. รศ.พญ.รัศมน กล่าวต่อว่า เนื่องจาก ผู้เสพถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง หากโควิด-19 ระบาดในไทยรอบ 2 แพทย์ต้องเตรียมรับมืออาการของโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงในผู้ใช้สารเสพติด โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ

“แต่เมื่อเห็นสถิติลดลง ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะจะทำให้กลับมาได้ รัฐควรออกมาตรการต่อเนื่องหรือเพิ่มเติมเพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.  กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น พร้อมกล่าวถึงปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี เพราะการสำรวจพบว่ามีการใช้สารเสพติดมากถึงร้อยละ 3.72 ในปี 2562  

โดยเอ่ยว่าในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ สสส. จะใช้ข้อมูลวิชาการเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายจะนำผลสำรวจไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานเฝ้าระวัง และเยียวยา จากนั้นต้องส่งต่อไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อภาคนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ขณะเดียวกัน เรามองว่าภาคประชาชนและสื่อมวลชนเองก็มีส่วนร่วมที่ต้องช่วยกันสร้างแรงกระตุ้นและความตระหนักให้เกิดขึ้นในระดับสังคมเช่นกัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

วิจัยชี้ Social Distancing ทำนักเสพมี “ระยะห่าง”เสพสารมอมเมาลดลง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ