ข่าว

ล่องใต้ดูโรงสีชุมชน“สังข์หยด” ยกระดับการผลิตสู่จีเอ็มพี

ล่องใต้ดูโรงสีชุมชน“สังข์หยด” ยกระดับการผลิตสู่จีเอ็มพี

03 ก.ค. 2559

บายไลน์ - สุรัตน์ อัตตะ

                    การนำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ทั้งจีเอพี และจีเอ็มพี มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการธุรกิจของโรงสีข้าวชุมชนเพื่อให้กระบวนการผลิตข้าวได้คุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) พันธุ์แรกของประเทศอย่างข้าวสังข์หยด นับเป็นทางออกให้แก่เกษตรกรในการยกระดับคุณภาพข้าวสังข์หยดตั้งแต่กระบวนการผลิตในไร่นา จนถึงกระบวนการแปรรูปข้าวเปลือก ตลอดจนเพิ่มมูลค่าและสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์ของโรงสีข้าวให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น

                    “ท่องโลกเกษตร” อาทิตย์นี้ล่องใต้ตามคณะผู้บริหารสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นำโดย คุณอิงอร ปัญญากิจ ผู้อำนวยกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. ไปดูแหล่งกำเนิดข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พันธุ์แรกของประเทศในพื้นที่ จ.พัทลุง พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตจากไร่นาสู่การแปรรูปเพิ่มมูลค่าโดยโรงสีข้าวชุมชนที่ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อให้ได้ข้าวสารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสำหรับการบริโภค

                    การลงพื้นที่ครั้งนี้เรามุ่งเป้าไปที่โรงสีข้าวชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง หมู่ 13 ต.ปันแต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นโรงสีชุมชนขนาดเล็ก มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 12 ตันต่อวัน มีเกษตรกรสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 43 ราย ครอบคลุม 5 หมู่บ้าน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 4,000 ตันต่อฤดูการผลิต หลังอิ่มอร่อยมื้อกลางวันด้วยอาหารพื้นบ้านปักษ์ใต้ จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังที่ทำการกลุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเขาอ้อมากนัก โดยได้รับการต้อนรับจาก ลุงนัด อ่อนแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลางและนายกสมาคมผู้ผลิตและค้าข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงและคณะ พร้อมบรรยายสรุปถึงการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้ฟัง 

                    ลุงนัดบอกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกไม่มาก โรงสีข้าวมีกำลังการผลิตแค่ 12 ตันต่อวัน แต่สามารถนำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำมาใช้ในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งนี้แรกเริ่มกลุ่มได้นำมาตรฐานจีเอพีมาใช้ในการปลูกข้าวสังข์หยดก่อน จนกระทั่งปี 2557 จึงมีการปรับปรุงระบบบริหารจัดการกระบวนการผลิตโรงสีข้าวให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี (มกษ.) ซึ่งปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนยังคงดำเนินการตามมาตรฐานสินค้าเกษตรในทุกๆ ด้านไว้ได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะได้ข้าวสารมีคุณภาพ ปลอดภัย เพิ่มมูลค่าของสินค้าข้าวแล้วยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

                     จากนั้นลุงนัดได้พาเยี่ยมชมกระบวนการผลิตของโรงสี โดยเริ่มจากขั้นตอนการคัดแยกสิ่งปลอมปนในเมล็ดข้าวและตรวจวัดความชื้น หลังจากสมาชิกนำข้าวเปลือกจากแปลงนามาที่โรงสี จากนั้นก็จะนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกสิ่งปลอมปนออกและทำการตรวจวัดความชื้น โดยจะต้องทำการไล่ความชื้นอยู่ที่ไม่เกิน 14% ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการสี ซึ่งกระบวนการสีนั้นก็จะมีการแยกเป็นข้าวสาร (กล้อง) ข้าวสาร (ขัดขาว) รำข้าวและแกลบ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการบรรจุหีบห่อเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

                      “ตอนนี้ทางกลุ่มรับซื้อข้าวจากสมาชิกขั้นต่ำอยู่ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท เมื่อสมาชิกนำข้าวเปลือกมาส่ง เราก็จะทำการชั่งน้ำหนัก จากนั้นเข้าสู่กระบวนการคัดแยกสิ่งปลอมปนและไล่ความชื้นให้อยู่ที่ 14% จากปกติจะอยู่ที่ 20-25% เสร็จแล้วก็จะนำข้าวเปลือกที่ได้มาบรรจุในถุงขนาดใหญ่แล้วเก็บไว้ในโกดังเพื่อรอการสีเป็นข้าวสารต่อไป ซึ่งการสีนั้นเราจะทำตามออเดอร์ของลูกค้าก่อนนำมาบรรจุหีบห่อตามที่ลูกค้าต้องการ ส่วนตลาดไม่น่าห่วงมีเข้ามาทุกวัน มีทั้งลูกค้าทั่วไป ส่งห้างสรรพสินค้าแล้วก็ยังส่งออกต่างประเทศด้วย เช่น จีน สิงคโปร์ประมาณ 20% ของผลผลิตทั้งหมดประมาณ 4-5 พันตันต่อฤดูกาลผผลิต” ลุงนัดเผยข้อมูลล่าสุด 

                        อิงอร ปัญญากิจ ผู้อำนวยกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช.กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมโรงสีข้าวชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง โดยระบุว่ามาตรฐานหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว (มกษ.4403-2553) หรือจีเอ็มพี โรงสีข้าวเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่ครอบคลุมสุขลักษณะของสถานที่ผลิตและขั้นตอนการทำงานของโรงสีข้าวตั้งแต่การรับซื้อข้าวเหลือก ซึ่งเน้นให้ทราบแหล่งที่มาของข้าวเปลือกทำให้สามารถทวนสอบได้ในกรณีที่มีปัญหา นอกจากนั้นการลดความชื้นการทำความสะอาด การกะเทาะเปลือก การขัดสี การคัดแยกคุณภาพ การบรรจุการเก็บรักษาและขนส่ง ตลอดจนขั้นตอนการทำงานเพื่อสร้างความมั่นใจตลอดการผลิตข้าวสารคุณภาพ

                       “จุดเด่นของที่นี่คือความแข็งแกร่งของกลุ่ม สมาชิกรวมตัวกันได้ดีช่วยผลักดันงานจนสำเร็จ การรับรองมีทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม แต่ที่วิสาหกิจุมชนบ้านเขากลาง เป็นการรับรองแบบกลุ่ม ในการรับรองกลุ่มทำได้ค่อนข้างยาก เพราะในกลุ่มมีคนจำนวนมาก มีทั้งคนปฏิบัติดีและไม่ดี ถ้ามีคนปฏิบัติไม่ดีสักคน ทั้งกลุ่มจะตกหมดเลยก็ไม่สามารถให้การรับรองได้  ปัจจุบันทั่วประเทศที่มีการรับรองแบบกลุ่ม (ในทุกพืช) มีเพียง 100 กว่ากลุ่มเท่านั้นและเราก็จะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานและต่ออายุในทุกๆ 3 ปี หากไม่ผ่านก็จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด” ผอ.อิงอรกล่าวย้ำ

                       โรงสีข้าวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการก้าวสู่มาตรฐานจีเอ็มพีการันตีด้วยรางวัลบริการภาครัฐดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ประจำปี 2557 ในชื่อ "กระบวนงานการพัฒนาเพื่อยกระดับโรงสีข้าวขนาดเล็กให้ได้มาตรฐาน มกษ.4403-2553 อย่างมีส่วนร่วม โดยการนำเสนอของ มกอช. ซึ่งผลจากการได้รับรางวัลเป็นการการันตีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดและผู้บริโภคถึงความมีคุณภาพและได้มาตรฐานในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่กลุ่มได้ดำเนินการตั้้งแต่แปลงปลูกจนถึงโรงสี นับเป็นการขับเคลื่อนเพื่ิอสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป