
"เกียรติ" จี้เร่งแก้ช่องว่างดอกเบี้ย หลังพบพุ่งสูงปรี๊ด
"เกียรติ สิทธีอมร" จี้เร่งแก้ช่องว่างดอกเบี้ย หลังพบพุ่งสูงปรี๊ด "ฝาก - กู้" ห่างถึง 7.0 งัดตัวเลขเปรียบต่างชาติ ไทยนำลิ่ว ยัน เงินฝากไม่คุ้มเงินเฟ้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ค "Kiat Sittheeamorn" ถึงกรณีปัญหาช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น และจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต ในชื่อ "สัญญาณอันตราย: ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ – เงินฝากพุ่ง" โดยระบุว่า อีกไม่กี่วัน ก็จะถึงกลางปี พ.ศ. 2559 แล้ว ที่ผ่านมาตนได้เคยแสดงความคิดเห็น และข้อห่วงใย ในเรื่องทางเศรษฐกิจของไทยเป็นระยะๆ ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของ ภาคการผลิต ขนส่งสินค้า ราคาสินค้า และค่าครองชีพ หรือเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งครองอันดับต่ำสุดในอาเซียนมา 2 ปีซ้อน หรือเรื่องหนี้นอกระบบที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องมีภาระอันหนักหน่วง ต้องมีการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นต้น
มาวันนี้ แม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีทิศทางดีขึ้นบ้าง (เมื่อย้อนไปดูตัวเลขการคาดการณ์ของสถาบันต่างๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว) ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ เศรษฐกิจไทยเดินไม่เต็มสูบ “กำลังซื้อถดถอย การส่งออกไม่เข้าเป้า การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ” แม้ตัวเลขการขอสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะมีถึงประมาณ 8 แสนล้านบาท แต่ขึ้นโครงการจริงเพียง 2 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น (ที่มา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ) ทำให้สภาพคล่องหรือเงินในระบบสถาบันการเงินมีเหลืออยู่มาก ในที่สุดก็ต้องหันมาลดดอกเบี้ยเงินฝาก(สะสมทรัพย์) ของธนาคารพาณิชย์ของไทย 6 อันดับแรก เหลือเพียงประมาณร้อยละ 0.125 – 0.75เท่านั้น (ที่มา https://www.bot.or.th…/applicat…/interest_rate/in_rate.aspx) ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยยังสูงถึงกว่าร้อยละ 7.8 (ที่มา https://www.bot.or.th/…/applicat…/interest_rate/in_rate.aspx)
นี่คือสัญญาณอันตราย ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้เทียบกับเงินฝากพุ่งสูงกว่าร้อยละ 7.0ที่ว่าส่วนต่างดอกเบี้ยสูงก็เป็นเรื่องที่คิดเองไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆให้รู้แจ้งเห็นจริง เพราะข้อมูลนี้เป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ธนาคารโลกจึงมีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบทุกประเทศทั่วโลก (รายละเอียดที่ http://data.worldbank.org/indicator/FR.INR.LNDP/countries…) ตนอยากนำข้อมูลบางประเทศมาเปรียบเทียบให้ดู เพื่อชี้ให้เห็นว่าเรากำลังมีปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
โดยนายเกียรติได้นำเสนอตัวเลขช่องว่าระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในประเทศต่างในช่วงปี 2554-2558 โดย ประเทศ นิวซีแลนด์อยู่ที่ 2.0 แคนาดา 2.7 ออสเตรเลีย 3.3จีน 3.0 ฮ่องกง 5.0 สิงคโปร์ 5.2
นายเกียรติระบุต่อว่า ประเทศไทยเองในช่วงปี พ.ศ.2554-2558 ก็ต้องถือว่าสูงอยู่แล้วพอสมควรที่เฉลี่ยร้อยละ 5.1 ถึงปีนี้ก็พุ่งไปสูงกว่าร้อยละ 7.0 แล้ว และยังมองไม่เห็นว่าจะมีทีท่าว่าจะลดลงมาแต่อย่างใด ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ สถาบันการเงินอาจจะอยู่ได้ แต่ประชาชนจะอยู่กันอย่างไรครับ? มีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยไม่คุ้มเงินเฟ้อด้วยซ้ำ (เงินเฟ้อช่วง 2554-2558 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.0) โดยเฉพาะประชาชนผู้เกษียณอายุซึ่งตอนนี้มีจำนวนสูงถึงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ จะอยู่กันอย่างไรครับ?
"อย่างนี้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ แต่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน เพียงแค่จะให้มีกำไรพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยธนาคารได้ก็ต้องบอกว่าหืดขึ้นคอครับ...! แค่พยายามหมุนเงินให้พอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็แทบจะไม่ไหวกันอยู่แล้ว แล้วจะไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยในระดับร้อยละ 2.0 หรือร้อยละ 4.0 หรือ 5.0 ได้อย่างไรครับ? สถาบันการเงินเองแม้จะอยู่ได้ แต่ก็แข่งไม่ได้ครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ความน่าลงทุนในไทยก็ถดถอยไปเรื่อยๆ เรื่องนี้นิ่งนอนใจไม่ได้ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลายไปกว่านี้ และแก้ยากกว่านี้ถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล (กระทรวงการคลัง) ต้องแสดงฝีมือให้เห็น หนทางแก้ไขมีหลากหลายวิธี จะเลือกวิธีไหนก็ไม่ว่า ขอให้บอกให้ประชาชนทราบกันด้วย เรื่องนี้รอไม่ได้แล้วครับ...!!!"