
กกต. แฉมีขบวนการชี้นำปชช. รับ-ไม่รับร่าง รธน.
"สมชัย" แฉมีขบวนการชี้นำปชช. บอกกาขวา-กาซ้าย รับ-ไม่รับร่างรธน. ขู่เปลี่ยนรูปแบบบัตร ดัดหลังพวกป่วน เผย ยอดคนขอใช้สิทธินอกเขตกว่า 2 แสนคน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของการเลือกตั้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ให้กับนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง(พตส.) รุ่นที่ 7 ที่ห้องประชุม 704 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยนายสมชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า หลักในการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ คือการทำให้ประชาชนเข้าใจในประเด็นที่จะมีการออกเสียงประชามติ เช่นในขณะนี้สิ่งที่หนักหนาสาหัสมาก คือประชาชนไม่ทราบหรือเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเพียงพอที่จะตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ บางคนที่ตัดสินใจแล้วก็เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานการชี้นำของพวกพ้อง หรือกลุ่มการเมืองที่ตนเองหลงใหลอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยมาก ทั้งนี้ในการจัดเวทีชี้แจงที่ผ่านมาตนได้รับรายงานจากสายลับที่นั่งปะปนกับผู้ที่ไปรับฟังการชี้แจง โดยมีการพูดว่าไม่ต้องสนใจเนื้อหารัฐธรรมนูญให้กาไปเลยที่ด้านขวาทั้งหมดหรือด้านซ้ายทั้งหมด ซึ่งด้านขวาคือไม่รับส่วนด้านซ้ายคือรับร่างรัฐธรรมนูญ การทำเช่นนี้ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนคิดหรือศึกษา แต่เป็นการบอกต่อแบบขาดสติ
"ถ้าผมเปลี่ยนรูปแบบของบัตรจะทำอย่างไร เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นคนที่รู้แบบ สี รหัสนั้นมีผมคนเดียว ถามกกต.คนอื่นไม่มีใครรู้ เพราะเวลาประชุมกับโรงพิมพ์นั้น ผมไล่เจ้าหน้าที่ออกหมด จะเหลือแค่สามคนคือผมและเจ้าหน้าที่กกต.อีกสองคนกับเจ้าหน้าที่โรงพิมพ์เท่านั้น" นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวต่อว่า มาตรการในการป้องกันไม่ให้มีบัตรออกเสียงประชามติปลอม ประกอบด้วย 1.การกำหนดสีบัตรที่จะใช้ โดยจะไม่มีการเปิดเผยสีที่จะใช้ 2.มีการใช้ตัวอักษรขนาดเล็กหรือไมโครเลทเตอร์ที่ต้องใช้แว่นขยายส่องดู 3.มีลายน้ำที่ต้องส่องกับแสงจึงจะเห็นแต่ของกกต.ต้องส่องกับแสงสีม่วงเท่านั้นจึงจะเห็นคือต้องใช้เครื่องมือตรวจธนบัตรมาใช้ และยังมีอีกสองอย่างที่ไม่เปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งมีมาตรการ 5 อย่าง ในการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันบัตรปลอม ซึ่งตนสามารถดูด้วยสาตาได้หากพบว่ามีบัตรปลอมเกิดขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องการอำนวยความสะดวกประชาชนนั้น กกต.ก็มีบทบาทให้คนที่มีสิทธิเข้าถึงในการใช้สิทธิให้ได้มากที่สุด
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการปิดลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติทางอินเทอร์เน็ตที่ กกต.เปิดให้ดำเนินการตั้งวันที่ 1 พ.ค.ถึง 30 มิ.ย.59 นั้น มียอดผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 158,423 คน ขณะที่การเปิดให้ยื่นลงทะเบียนด้วยตนเองต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ถึงวันที่ 7 ก.ค.59 มียอดผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 30 มิ.ย.จำนวน 48,322 คน รวมมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งแล้ว 206,745 คน ถือว่ายอดดังกล่าวค่อนข้างน่าพอใจ และใกล้เคียงกับการออกเสียวประชามติเมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตามยังเหลือเวลาอีก 7 วันที่ประชาชนยังสามารถยื่นลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการยื่นขอลงทะเบียนเพิ่มอีกจำนวนมาก ส่วนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุที่จะมีการจัดหน่วยพิเศษซึ่งจะมีอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกนั้น ในเบื้องต้นได้มีการจัดเตรียมไว้แล้วสองจุดคือที่บ้านบางแค 1 และบ้านบางแค 2.