ไลฟ์สไตล์

มติสมัชชารองรับสังคมสูงวัยเสนอทางเลือก รับมือคนแก่ติดบ้าน-ติดเตียง

ภายในปี 2563 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด จนถึงปี 2583 ประมาณการณ์ว่าตัวเลขนี้จะสูงถึงร้อยละ 32.2

ขณะที่วัยแรงงานก็จะลดลงเรื่อยๆ จาก 1 ต่อ 6.8 ในปัจจุบัน เป็น 1 ต่อ 2 ในปี 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรสูงวัยมีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคต่างๆ หรือเกิดอุบัติเหตุหกล้มที่ทำให้มีโอกาสเป็นผู้ป่วยติดบ้าน-ติดเตียงสูง

ดังนั้น การมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก แปลความในด้านกลับกันว่า จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงวัยที่ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ไม่มีครอบครัว หรือครอบครัวดูแลไม่ได้ ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี และเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างเหมาะสม

มติสมัชชารองรับสังคมสูงวัยเสนอทางเลือก รับมือคนแก่ติดบ้าน-ติดเตียง
ที่มา: pixabay.com
 

ในงานสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการศึกษาและนำเสนอนโยบายในหลายเรื่องหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือ มิติสุขภาพ ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น นั่นคือ การดูแลระยะยาว กับ การเท่าทันหรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้สัมพันธ์กันอย่างแนบชิด

ประเด็นการดูแลระยะยาว ข้อมูลจากคณะทำงานฯ ระบุถึงตัวเลขประชากรที่ป่วยติดบ้าน-ติดเตียงในประเทศไทย พบว่า ปี 2560 ไทยมีผู้ป่วยติดบ้าน 235,301 ราย ผู้ป่วยติดเตียง 136,677 ราย และคาดการณ์อนาคตว่า ในปี 2580 ผู้ป่วยติดบ้านจะเพิ่มเป็น 526,228 ราย ผู้ป่วยติดเตียงเป็น  311,256 ราย และในปี 2590 ผู้ป่วยติดบ้านจะเพิ่มเป็น 727,103 ราย ผู้ป่วยติดเตียงเป็น 434,694 ราย

มติสมัชชารองรับสังคมสูงวัยเสนอทางเลือก รับมือคนแก่ติดบ้าน-ติดเตียง
ที่มา https://prachatai.com/journal/2018/03/75963
 

ในงานศึกษาดังกล่าว มีการนำเสนอเกี่ยวกับการคำนวณตัวเลขงบประมาณในการจัดบริการดูแลระยะยาวในประเทศไทย แบ่งเป็น 1.รัฐดูแลทั้งหมด 2.การดูแลแบบผสมผสาน

โดยกรณีที่รัฐจะทุ่มงบดูแลทั้งหมดนั้น พบว่า

ต่ำสุด - หากจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงติดบ้านได้รับการดูแลแบบคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ได้ จะต้องใช้งบ 1,080 ล้านบาทต่อปี เพื่อจ้างผู้ดูแลมืออาชีพ 1 คนให้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 25 คน โดยให้ค่าตอบแทนผู้ดูแลคนละ 6,000 บาทต่อเดือน

ปานกลาง – หากจะให้การดูแลที่ทำให้ผู้ป่วยติดเตียงมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ต้องใช้งบ 8,640 ล้านบาทต่อปี เพื่อจ้างผู้ดูแล 1 คนให้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 6 คน โดยให้ค่าตอบแทนผู้ดูแลคนละ 12,000 บาทต่อเดือน

สูง – หากจะให้มีการดูแลอย่างเต็มที่ มีทั้งผู้ดูแลมืออาชีพและค่าวัสดุอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ จะต้องใช้ต้นทุนสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงราว 372,000 คน โดยจ้างผู้ดูแลมืออาชีพ 1 คน ดูแลผู้ป่วย 3 คนโดยให้ค่าตอบแทนผู้ดูแลคนละ 21,150 บาทต่อเดือน

ในกรณีการดูแลแบบผสมผสาน คือมีทั้งการดูแลที่บ้าน ที่ชุมชน รวมถึงการดูแลแบบเข้าไปอยู่ใน nursing home หรือ day care มีการประมาณการงบประมาณอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาทเช่นกัน

คำถามคือ 30,000 ล้านบาท เท่ากับประมาณร้อยละ 1 ของงบประมาณรัฐบาลปี 2562 เรามีเงินจะลงทุนมากถึงเพียงนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตที่กำลังก่อตัวขึ้นและรัฐบาลยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณแบบที่เราฝันถึง เราสามารถลงมือทำบางอย่างได้เลยโดยไม่ต้องรอ ด้วยการรวบรวมความร่วมมือจากทุกส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่อยู่แล้ว ร่วมมือกับกลไกใหม่อย่างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่รวมเอาหลายหน่วยงานรวมถึงภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย

แนวทางของมติสมัชชาเฉพาะประเด็นฯ เสนอไว้น่าสนใจและคำนึงถึงความเป็นไปได้จริง นั่นคือ ให้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในพื้นที่ ทั้ง วัด โรงเรียน รพ.สต. เป็นต้น มาทำงานสนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ช่วยคัดกรองภาวะความเสื่อมตามวัย ดูแลสุขภาพผู้เจ็บป่วยในชุมชนไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ยังเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเปิดพื้นที่ให้ส่วนอื่นๆ ได้เข้าร่วมพัฒนาระบบดูแลระยะยาว นับตั้งแต่การเงินการคลัง การมีกองทุนระดับพื้นที่ การพิจารณาทบทวนกฎหมายหรือแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ออกแบบระบบ บริหารจัดการ เชื่อมโยงระบบดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน

หรือกระทั่งเอกชนก็สามารถมีบทบาทในเรื่องนี้ได้ทันทีดังตัวอย่างที่ ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ประธานกรรมการดำเนินการประชุมสมัชชานโยบายรองรับสังคมสูงวัย หยิบยกขึ้นมา

“เราพยายามสนับสนุนให้ครอบครัวเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุเอง เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย เราจึงชวนคุยว่ามีโอกาสไหมที่เอกชนจะจัดสรรเวลาให้พนักงานได้ดูแลพ่อแม่หรือคนสูงวัยในครอบครัว หรือกรณีที่บางหน่วยงานมีศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์นี้จะขยายไปถึงผู้สูงวัยได้ไหม” 

มติสมัชชารองรับสังคมสูงวัยเสนอทางเลือก รับมือคนแก่ติดบ้าน-ติดเตียง
ที่มา: เว็บไซต์กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 

อีกมติหนึ่งที่สำคัญ คือ Health Literacy หรือความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งหมายถึงความสามารถของคนเราที่จะค้นหาคำตอบที่ต้องการและตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมา ทั้งนี้การที่ประชาชนได้รับรู้ว่าจะดูแลสุขภาพตัวเองอย่างไร จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านในชุมชนที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยอย่างไร ย่อมส่งผลต่อการเจ็บป่วยหรือการเกิดอุบัติเหตุที่น้อยลง ภาระงบประมาณในการรักษาพยาบาลก็ลดลงเป็นเงาตามตัว

อย่างไรก็ดี เรื่อง “ความเท่าทัน” นี้เป็นเรื่องสำคัญในยุคที่ใครๆ ก็ใช้สื่อโซเชียล โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่ส่งข้อมูลสุขภาพ ยาแก้สารพัดโรคกันทางไลน์มากมาย โดยจำนวนมากยังขาดการตรวจสอบข้อมูล ข้อมูลที่ผิดๆ จึงสามารถกระจายได้โดยง่าย กว้างขวาง รวดเร็ว และสร้างความเข้าใจผิดอันจะก่อผลเสียหายต่อผู้บริโภคเอง

เวทีสมัชชาเฉพาะประเด็นจึงนำเสนอใน 2 ส่วนสำคัญ นั่นคือ ให้กรมอนามัย ร่วมกับ สสส. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ พัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งติดตามตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่แพร่กระจายอยู่ในช่องทางต่างๆ ให้ถูกต้อง

นอกจากนี้ยังเสนอให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสถาบันวิชาการ ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางภาษีและมาตรการทางการเงิน ส่งเสริมให้เอกชนมีกิจกรรมสนับสนุนการสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพ

ทั้งหมดนี้คือมาตรการเบื้องต้นสำหรับดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยที่กำลังมีจำนวนมากขึ้นๆ ให้มีองค์ความรู้ในการดูแลตนเองเพื่อให้ห่างไกลโรคต่างๆ และการเจ็บป่วยแบบติดเตียงให้มากที่สุด ในกรณีที่ต้องติดบ้านติดเตียงก็จะมีภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมมือกันคอยช่วยเหลือดูแล ไม่ให้ชีวิตของพวกเขาต้องลำบากและโดดเดี่ยวจนเกินไป

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม