ชีวิตดีสังคมดี

5 เดือน 'รถไฟฟ้า 20 บาท' ผู้โดยสารใช้งานทุบสถิตินิวไฮ ลุ้นขยายเวลาหรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สรุป 5 เดือน 'รถไฟฟ้า 20 บาท' ผู้โดยสารใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีม่วง ทุบสถิตินิวไฮ 2เส้นทางคนใช้งานมากขึ้น ลุ้นขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายหรือ "รถไฟฟ้า 20 บาท" โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ผลการดำเนินนโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาท" ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2566 - 14 มี.ค. 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

 

 

ขอบคุณภาพจากกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 
     

 

ขอบคุณภาพจากกระทรวงคมนาคม

 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ