ชีวิตดีสังคมดี

กางแผนรีโนเวท 'หมอชิต 2' อีก 4 ปี มีอาคารผู้โดยสารฟีลสถานีรถไฟโตเกียว

05 ม.ค. 2567

กางแผนรีโนเวท 'หมอชิต 2' คมนาคมวาดอีก 4 ปี ปรับโฉมทั้งหมดให้ฟีลเหมือนสถานีรถไฟโตเกียว พร้อมเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งทุกรูปแบบ

กลายเป็นตำนานที่ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้งสำหรับ "หมอชิต 2" หลังจากที่ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์  หรือ แบงค์ สส. กรุงเทพมหานคร (เขตจตุจักร บางเขน หลักสี่) พรรคก้าวไกล ออกมาพูดถึงความเสื่อมโทรมของสถานีขนส่ง "หมอชิต 2" ซึ่งนับว่าเป็นสถานีขนส่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งการขายตั๋วผี วินเถื่อน ความสะอาด ระบบอำนวยความสะดวก ไฟส่องสว่าง และความปลอดภัย จากที่ สส. แบงค์ ได้ออกมาเปิดเผยความจริงของ "หมอชิต 2" ก็สร้างแรงกระเพื้อมอย่างมาก 

ล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงถึงการปรับปรุง "หมอชิต 2" ในที่ประชุมสภา โดยระบุว่า  ไม่เคยละเลย สถานีขนส่ง "หมอชิต 2" เป็นอาคารขนส่งโดยสารชั่วคราว ตนได้สั่งการให้จัดทำแผนในอนาคตเพื่อพัฒนาการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อทุกภูมิภาคให้มาอยู่รวมที่เดียวกัน โดยได้เล็งไว้บริเวณรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (บางซื่อ) ซึ่งในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางระบบรางทั่วประเทศ  ภาพจากบขส.

นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวถึงแนวทางการปรับปรุง "หมอชิต 2" ทั้งด้านกายภาพ และด้านคุณภาพการให้บริการ และอนาคตของสถานีขนส่งหมอชิต โดยยืนยันว่า ได้สั่งการไปให้กระทรวงคมนาคม จัดทำแผนอนาคตในการพัฒนาการให้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะให้เชื่อมต่อทุกภูมิภาคของ บขส.ให้มาอยู่ที่เดียวกัน บริเวณโดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งอนาคตจะเป็นศูนย์กลางของระบบรางทั่วประเทศ และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าในเมือง ทั้งรถไฟสายสีม่วง สายสีแดง สายสีน้ำเงินและสายสีเขียว จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะของ บขส.มาไว้ติดกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชนแต่ที่ดินรอบสถานีกลางกรุงเทพอนุวัฒน์มีมูลค่าสูง
 

 

  • เปิดแผนรีโนเวท "หมอชิต 2" ถอดแบบสถานีโตเกียว

อนาคตอาจจะมีราคาไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 500,000 บาท จึงจะมีการพัฒนาอาคารขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวในลักษณะอาคารสูง ลักษณะคล้ายของประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่เยสุบัส เทอร์มินัล ที่อยู่ติดรอบสถานีรถไฟโตเกียว หรือสถานีบัสเทอร์มินัล อยู่ติดรอบสถานีรถไฟฮากาตะ เมืองฟุกุโอกะ ล้วนเป็นลักษณะอาคารสูง ใช้ระบบ Sharing Gates แบบสนามบิน มีแกนกลางเป็นพื้นที่ร้านอาหาร เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในอนาคตที่ตนได้สั่งการไว้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของ บขส.และหน่วยงานคมนาคมที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้ดำเนินการ 4 ปี โดยคาดว่า บขส.จะสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ของตนเองได้ ไม่รบกวนงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากราคาประเมินที่ดินที่สถานีขนส่งโดยสารเอกมัยอาจมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านบาท

 

 

ภาพจากเพจบขส.

 

  • กำชับดูแล "หมอชิต 2" ก่อนรีโนเวทใหม่ทั้งหมด 

นายสุริยะ ยังได้สั่งการไปยัง บขส.ให้ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการในสถานีขนส่ง "หมอชิต 2" ทั้งบันไดเลื่อน ชานชาลาที่ ความแออัดของผู้โดยสารระหว่างรอขึ้นรถโดยสาร โดยให้ บขส.ไปจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา ที่มีความมืออาชีพด้านการออกแบบมาศึกษาปรับปรุงโดยด่วน คาดว่า จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อยกระดับการให้บริการในระหว่างรอการดำเนินการออกแบบก่อสร้างสถานี บขส. ในรูปแบบอาคารสูงตามที่ได้เรียนไว้ ส่วนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในอีกประมาณ 4 เดือนข้างหน้านี้นั้น นายสุริยะ ยอมรับว่า ตนเอง และนายสุระพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ช่วงเทศกาลปีใหม่พบปัญหาหลายอย่าง จึงได้กำชับให้ปรับปรุงรักษาความสะอาดของห้องน้ำ เร่งติดตั้งแสงสว่าง และรื้อถอนอาคารเช่าที่รกร้างให้เสร็จก่อนสงกรานต์ และเปิดจองตั๋วเดินทางล่วงหน้า เพื่อนำข้อมูลมาจัดสรรลดความแออัดของผู้ใช้บริการ

 

ภาพจากบขส.

สำหรับความเป็นมาของ "หมอชิต 2" มีการย้ายจากหมอชิตเดิมบริเวณถนนพหลโยธิน หรือปัจจุบันคือลานจอดรถของบีทีเอสหมอชิต และในปี 2541 ได้ย้ายมาอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 หรือที่เรียกกันว่าหมอชิตใหม่ หรือ "หมอชิต 2" นั้นเอง โดยปัจจุบัน "หมอชิต 2" ตั้งอยู่บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นอาคาร 4 ชั้น  บนเนื้อที่ 27,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 73 ไร่ โดยหมอชิตแห่งใหม่นี้นับว่าเป็นสถานีขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทไทย