ชีวิตดีสังคมดี

'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' 1 เดือนขาดทุนยับวันละ 7.4 ล้าน ถามไปต่อหรือพอแค่นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย' ครบ 1 เดือน ดร.สามารถ เผยขาดทุนหนักวันละ 7.4 ล้าน ตั้งคำถามควรไปต่อหรือพอแค่นี้ ด้านกรมรางฯ สรุปผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% ช่วงวันหยุด

ครบหนึ่งเดือนสำหรับการดำเนินนโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการดังกล่าวในรถไฟฟ้าทั้วหมด 2 เส้นทาง คือ สายสีม่วงสถานีเตาปูน-สถานีคลองบางไผ่ และรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีบางซื่อ-รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อเป็นการลดภาระรายจ่ายให้แก่ประชาชน และเป็นไปตามนโยบายการหาเสียงของพรรครัฐบาล  

 

 

 

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางราง สรุปปริมาณผู้โดยสาร "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ตลอดระยะเวลา 1 เดือน พบว่า ในสายสีแดงวันธรรมดาจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 11% ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ขณะที่สายสีม่วงช่วงวันธรรมดา วันจันทร์-ศุกร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 5% และเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นประมาณ 15%  

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาที่มีการให้บริการ "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" แน่นอนว่าผลดีย่อมเกิดกับประชาชน เพราะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ถูกลง แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" เอาไว้ว่า  อึ้ง 30 วัน 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนวันละ 7.4 ล้าน น่าแปลกใจที่รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม (รมว. คมนาคม) ไม่แถลงข่าวการใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงหลังจากที่ใช้ครบ 30 วัน หรือ 1 เดือนแล้ว ซึ่งพอจะประเมินได้แล้วว่าผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ต่างกับวันเปิดใช้นโยบายนี้ในวันแรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ รมว. คมนาคม แถลงข่าวใหญ่โตด้วยการธนบัตร 20 บาท พร้อมยิ้มกว้างต่อหน้านักข่าวมากมาย

 

 

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

ดร.สามารถ ได้ประเมินนโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ต่อว่า  

1. ประเมินนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

ในช่วง 30 วัน เป็นการเปรียบเทียบผลก่อนใช้นโยบายนี้ 30 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ก.ย. 2566 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2566 กับหลังใช้นโยบายนี้ 30 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 16 ต.ค 2566 ถึงวันที่ 14 พ.ย. 2566 โดยไม่รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

 

2. รายได้ลดลงวันละ 5 แสน ขาดทุนวันละ 7.4 ล้าน
หลังใช้นโยบาย "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" เป็นเวลา 30 วัน พบว่ารถไฟฟ้า 2 สายนี้ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้สายสีแดง 5 แสนบาท สายสีม่วง 8 แสนบาท ลดลงจากเดิมวันละ 5 แสนบาท คิดเป็น 28% ในขณะที่มีรายจ่ายค่าจ้างเดินรถทั้ง 2 สาย เฉลี่ยวันละ 8.7 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท ในส่วนของปริมาณผู้โดยสาร พบว่ารถไฟฟ้า 2 สายนี้ มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 91,450 เที่ยว หากผู้โดยสารเดินทางวันละ 2 เที่ยว/คน ก็จะคิดเป็นจำนวนคนได้วันละ 45,725 คน ประกอบด้วยผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง 13,064 คน สายสีม่วง 32,661 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมวันละ 10,893 เที่ยว หรือวันละ 5,446 คน คิดเป็น 13%

 

 

3. "รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย" ไปต่อหรือพอแค่นี้  
เป็นหน้าที่ของ รมว. คมนาคม ที่จะต้องพิจารณาว่า รายได้ที่ลดลงคุ้มกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ? และที่สำคัญ จะต้องหาทางทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้ได้ 

 

 

รถไฟฟ้าสายสีแดง

 

 

ดร.สามาถ ได้เสนอให้ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์การใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงตามสถานีต่างๆ โดยไม่ต้องเชิญนักข่าวไปด้วย จะได้ข้อเท็จจริงว่าเหตุใดผู้โดยสารจึงเพิ่มขึ้นไม่มากตามที่ตั้งเป้าไว้ แล้วหาทางแก้ไขเพื่อทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมากให้ได้ ซึ่งจะช่วยลดการขาดทุนลงได้ ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รมว. คมนาคม จะต้องเร่งใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี โดยจ่าย 20 บาทครั้งเดียว ใช้สายไหน สีไหนก็ได้ ไม่เฉพาะแต่รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเท่านั้น ตามที่ได้หาเสียงไว้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ