ชีวิตดีสังคมดี

ค่าโดยสาร 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' จะเริ่มเก็บเงินกี่บาท-เมื่อไหร่ เช็กที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัปเดตค่าโดยสาร 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง' หลังทดลองนั่งฟรีครบ 23 สถานี จะเก็บเงินกี่บาท และเริ่มเก็บเมื่อไหร่ เช็กรายละเอียดที่นี่

"รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" เปิดให้ทดลองนั่งแล้วแบบเต็มรูปแบบครบ 23 สถานีตั้งแต่สถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว  โดยการเปิดทดลอง "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ในครั้งนี้เป็นการทดลองแบบเสมือนจริง(Trial Run)และยังไม่มีการเก็บค่าบริการจากประชาชน เบื้องต้นจะทดลองให้ประชาชนใช้บริการไปจนถึงสิ้น มิ.ย. 2566  ก่อนจะจัดเก็บค่าโดยสารตามระยะทางจริง 

โดยนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ว่า หลังจากที่มีการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" แบบไม่เก็บค่าโดยสารตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนที่อาศัยในย่านลาดพร้าว ศรีนครินทร์ และประชาชนในย่านสมุทรปราการ ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยหลังจากที่มีการเปิดทดลองอย่างเต็มระบบมีประชาชนใช้บริการจำนวนกว่า 65,000 คน/วัน (ข้อมูล ณ 19 มิ.ย. 2566) อย่างไรก็ตามมีการคาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนใช้บริการ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ราวๆ 120,000 คน/วัน 

ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเพิ่มมากขึ้นทางผู้ให้บริการจึงมีแนวทางในการปรับเพิ่มควาถี่ของขบวนให้ถี่ขึ้นโดยในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้า 07.00-09.00 น. และช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเย็น 17.00-20.00 น. จะให้บริการในความถี่ 5 นาที/ขบวน ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนจะปรับเป็นความถี่ที่ 10 นาที/ขบวน และเริ่ม เพื่อรองรับประชาชนที่คาดว่าจะใช้บริการเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากที่เปิดบริการแบบเต็มรูปแบบ 

 

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง
 

 

สำหรับอัตราค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ที่จะมีการจัดเก็บหลังจากที่เปิดทดลองให้ใช้บริการฟรีไปแล้ว นายพิเชฐ ให้ข้อมูลว่า ภายหลังจากที่เปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีไปแล้ว ผู้ให้บริการเดิน "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" จะเริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราคาแรกเข้า 15 บาท สูงสุดที่ 45 บาท โดยจะคิดค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มตั้งแต่ 3-4 บาท  อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นเอกชนผู้ใช้บริการตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค. 2566 แต่ในระเบียบการเก็บค่าโดยสารจะต้องเสนอให้ทางคณะรัฐมนตรีรับก่อน หลังจากนั้นจะต้องมีการประกาศการเรียกเก็บค่าโดยสารในพระราชกิจจานุเบกษาให้เสร็จสิ้น จึงจะสามารถเก็บค่าโดยสาร "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" ได้ 

 

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

 

 

โครงการ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 23 สถานี ประกอบด้วย สถานีลาดพร้าว สถานีภาวนา สถานีโชคชัย 4 สถานีลาดพร้าว 71 สถานีลาดพร้าว 83 สถานีมหาดไทย สถานีลาดพร้าว 101 สถานีบางกะปิ สถานีแยกลำสาลี สถานีศรีกรีฑา สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และผู้ใช้รถยนต์สามารถนำรถมาจอดได้ที่อาคารจอดแล้วจรสถานีศรีเอี่ยม  

 

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

 

ครม. เห็นชอบกำหนดอัตราค่าโดยสารสายสีเหลือง เริ่มต้น 15 - 45 บาท

 

วันที่ 27 ก.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรม   ร่างข้อบังคับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565  พ.ศ. .... และร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น ๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. ....   รวม 5 ฉบับ ดังนี้ 

 

1. ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้า สายสีเหลือง พ.ศ. .... (ช่วงลาดพร้าว - สำโรง) สาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามวิธีการในสัญญาสัมปทาน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (23 สถานี)  และหลักเกณฑ์อื่น  

 

อาทิ  กำหนดหลักเกณฑ์ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร กรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. ให้จัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รฟม.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีลาดพร้าว

 

ส่วนกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. กับรถไฟฟ้าสายอื่น คณะกรรมการ รฟม. ประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบ เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสาย Airport Rail Link (รฟท.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีหัวหมาก  (เช่น ภายใน 30 นาที) ให้ผู้โดยสารได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า  

 

กำหนดหลักเกณฑ์รายการส่งเสริมการเดินทาง ส่วนลดกลุ่มบุคคล เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น  ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบตามประเภทผู้ถือบัตร   การจัดโปรโมชั่น กิจกรรมการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น  รวมทั้ง หลักเกณฑ์สนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลอง งานพระราชพิธี เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า กิจกรรมตามนโยบายของรัฐ หรือกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ                                    

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3  ก.ค.  2566 นี้

 

2. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... (สายสีน้ำเงิน)  

 

มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่าย ระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 12 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สิ้นสุด 43 บาท)  

 

3. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. .... (สายสีม่วง) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. 2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบ กับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 16 สถานี เริ่มต้นที่  14 บาท สิ้นสุด 42 บาท)   

 

4. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565  พ.ศ. ....  เป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วย การกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ. 2565 เนื่องจากข้อบังคับฉบับนี้ เป็นการกำหนดส่วนลดค่าแรกเข้าในการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง

 

5. ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .... กำหนดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถยนต์ทุกแห่ง รวมถึงอาคาร จอดรถยนต์อื่น ๆ ในอนาคตของ รฟม.  เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยรวมไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มาใช้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 3 ก.ค.  2566 ปัจจุบัน มีการเปิดบริการและคิดค่าบริการจอดรถ จำนวน 3 แห่ง (สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ)

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ร่างข้อบังคับ รฟม. ทั้ง  5 ฉบับ คณะกรรมการ. รฟม. เห็นชอบแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566  เป็นต้นไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ