ชีวิตดีสังคมดี

ปรากฏการณ์ 'หมอลาออก' หวั่นไฟลามทุ่งกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟค หมักหมมนาน 50 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรากฏการณ์ 'หมอลาออก' หวั่นไฟลามทุ่งกลายเป็นเป็นโดมิโนเอฟเฟค ถึงเวลายอมรับประเทศขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เพราะปัญหาหมักหมมนาน 50 ปีไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด

"หมอลาออก" กลายเป็นประเด็นลุกลามไปทั่ววงการแพทย์ หลังจากที่ หมอปุยเมฆ โพสต์ ลาออก เพราะรู้สึกว่าไม่เห็นแสดงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในการแก้ปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำงานหนักจนกระทบทั้งร่างกาย และยังทำให้ประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยลดลง หนำซ้ำยังต้องแบกความหวังของคนไข้ และญาติผู้ป่วยเอาไว้ 

 

 

ปัญหา "หมอลาออก" และการที่แบกรับภาระงานที่หนักหนาจนเกินไป ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาดังกล่าวหมักหมม มานานนับ 10 ๆ ปี แต่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกตรงจุดเสียที จนทำให้หมอหลายคนทยอยออกจากระบบไปเรื่อย ๆ  ปัจจุบันบ้านเราเหลือหมอที่อยู่ในระบบที่ทำการรักษาผู้ป่วย ออกตรวจคนไข้ เข้าห้องผ่าตัดจริงๆ และยังทำงานหนักได้ (นับถึงอายุไม่เกิน 50ปี) ประมาณ 50,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น  

 

ปัญหาจริงๆ ที่ "หมอลาออก" คือความกดดันในการทำงานภาระคนไข้ที่เยอะเกินไป ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา รัฐมีนโยบายเน้นให้ผุ้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แต่ขาดการส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า Health literacy คือการให้ความรู้ในการดูแลตนเองเป็นหลักก่อน แบบที่ต่างประเทศเน้นย้ำเรื่องการป้องกันรักษาโรคและการดูแลตนเอง  คำบอกเล่าจาก  รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา 

 

รศ.นพ.เมธี ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึกเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ทำให้ "หมอลาออก" รวมไปถึงบุคลากรทางแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล เภสัชกร ทยอยลาออกไปจากระบบนั้น เป็นความจริงตามที่ หมออินเทิร์น ได้ออกมาโพสต์หลังจากที่ยื่นใบลาออกไป ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้หมอทุกคน โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่สามปีแรก มีความกดดันในการทำงานด้วยภาระคนไข้ที่เยอะกว่าจำนวนหมอมาก รวมไปถึงความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องหากรักษาผิดพลาด  ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าหมออยู่เวรได้ชั่วโมงละ 80-130 บาท  

 

 

ส่วนพยาบาลถ้าเข้าเวรได้ชั่วโมงละ 30-40 บาท รวมไปถึงกรณีที่ต้องรับเรื่องการฟ้องร้องจากญาติคนไข้ แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดคุ้มครอง ซึ่งหากโดนฟ้องแพ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้  แต่หลังจากจบคดีก็จะต้องมาพิจารณาไล่เบี้ยกันอยู่ดี แต่หากเป็นความผิดทางอาญาหมอจะต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะไม่มีใครเข้าคุกแทนได้ ดังนั้นทำให้หมอรุ่นใหม่เกิดคำถามตามมาว่า "ทำไมพวกเขาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหนักโดยไม่ได้เต็มใจแล้วเกิดความผิดพลาดตามมา" 

 

 

ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเจอมาตลอด จนทำให้เกิดการลาออกจากระบบไปเรื่อย ๆ และแน่นอนว่าเมื่อ "หมอลาออก" 1 คน คนที่เหลือย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะจะต้องมารับภาระหน้าที่แทนคนที่ลาออกไป ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่อาจจะทำให้เกิดโดมิโนเอฟเฟค หรือการที่เจ้าหน้าที่ บุคลากร เริ่มทยอยลาออกบ้าง เพราะภาระงานที่ถูกถ่ายเทจากอีกคนมาให้อีกคนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านับจากนี้ต่อไประบบสาธารณสุขของไทยจะได้รับผลกระทบ

 

 

รศ.นพ.เมธี ยังบอกอีกว่า วันนี้เราต้องยอมรับแล้วว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะขาดแคลนตำแหน่งในการบรรจุแพทย์เพิ่มให้พอเพียงกับความต้องการ วิธีการแก้ปัญหาให้ตรงจุดต้องไปดูที่ จุดบกพร่อง คือ ภาระงานที่มากเกินไปโดยไม่เปิดโอกาสให้ได้พักผ่อน ค่าตอบแทนที่น้อยกว่าความรับผิดชอบมาก และที่สำคัญคือความเสี่ยงของการถูกฟ้องร้องทางกฎหมาย  เข้าใจว่าทางกระทรวงและผู้หลักผู้ใหญ่เองก็ทราบปัญหานี้ดี และที่ผ่านมาก็พยายามอย่างมากในการแก้ปัญหา แต่ติดขัดหลายประการ 

 

 

โดยเฉพาะหลายประเด็นอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงฝ่ายเดียว หลายประเด็นก็มีหลายเจ้าภาพ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ คล้ายๆ กับจิ๊กซอ ที่ไม่ต่อติดกัน จึงควรกำหนดเจ้าภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่พร้อมจะทุบโต๊ะ มากกว่าปล่อยให้กระทรวงหรือใครคนใดคนหนึ่งทำกันเองฝ่ายเดียว การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี แต่ต้องเริ่ม เหมือนที่แพทยสภาเคยประกาศเรื่องหน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย เพื่อให้มีการตระหนักเรื่อง Health literacy และข้อจำกัดของระบบโดยเฉพาะข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์  หรืออาจถึงต้องผลักดันในกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงาน การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พักผ่อนอย่างพอเพียง ด้วยการออกเป็นแนวทางหรือกฎหมาย ในลำดับต่อไป  เพื่อจะได้มีมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมและจะได้คำนวณได้ถูกต้องว่า ทุกวันนี้เราขาดกำลังพลแพทย์และพยาบยาลอีกเท่าใดกันแน่    ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า การเริ่มต้นแก้ปัญหาในวันนี้ อาจต้องรอผลิดอกออกผลในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เริ่มกระทำเลย 

 

  • "หมอลาออก" ทำงานหนัก เสี่ยง ไทยมีหมอแค่ 50,000 กว่าคนที่ทำงานจริงๆ

ผลการสำรวจโดยสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้แพทย์ลาออกคือ คือ ภาระงานเกินกำลัง ไม่ได้พักฟ่อน เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง 15.34%  รวมไปถึงการถูกบังคับให้ใช้ทุนในสถานที่ที่ไม่ต้องการ เช่นไกลบ้าน สถานที่ไม่พร้อมจะดูแล 16.80% ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหา ต้องโฟกัสไปที่ปัญหาในข้างต้น 

 

 

ข้อมูลจากแพทยสภาระบุจำนวนแพทย์ในระบบด้วยว่า แพทยสภาผลิตแพทย์ไปแล้วประมาณ 72,250 คน เป็นแพทย์เฉพาะทางเกินครึ่ง หรือประมาณ 45,000 แพทย์ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ อีกครึ่งกระจายตัวในต่างจังหวัด หากนับแพทย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีประมาณ  65,000 แต่ถ้าคิดเฉพาะแพทย์ที่ยังทำงาน (นับถึงอายุ 60) จะเหลือ เพียง 55,000 แต่ถ้าคิดเฉพาะแพทย์ที่ยังทำงานและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับงานหนักได้ (อายุไม่เกิน 50) จะเหลือเพียง 50,000 คน ที่ต้องดูแลคนทั่วประเทศประมาณ 70 ล้านคน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนตรวจคนไข้นอกประมาณ 8,500 คนต่อปี (ย้งไม่นับคนไข้ใน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ