ชีวิตดีสังคมดี

รัฐสวัสดิการ 'คนพิการ' แบบไหน? สร้างสังคมไม่พิการเหมือนร่างกาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

30 กว่าปีที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนา "คนพิการ" ขณะที่ตัวเลขการมีงานทำ การจบการศึกษา ดูเหมือนสวนทางกับระยะเวลาที่กฎหมายบังคับการให้ภาครัฐดูแลพวกเขา แล้วรัฐสวัสดิการ 'คนพิการ' แบบไหน? ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดี ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ติดตามจากรายงาน

"นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์" นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ บอกว่า "รัฐสวัสดิการ" สร้างสังคมไม่พิการเหมือนร่างกาย ต้องทำภายใต้ "ทุกคน เท่ากัน" คนพิการ บางส่วนร่างกายที่ด้อยกว่า เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องส่งเสริม สนับสนุน ให้โอกาส คนพิการพัฒนา เติบโต ได้มีโอกาสได้เท่าๆ กับคนอื่น "รัฐสวัสดิการ" การให้เงิน ให้ยืม สิ่งต่างๆ เหล่านี้สำคัญ แต่สำคัญมากกว่า ต้องแก้ไขเร่งด่วนเป็นอันดับแรก คือ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เท่ากัน

นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ กับการเดินทางที่ไม่สามารถไปต่อได้

 

 

"ทำให้ทุกคนดินทางได้ คือ กระดุมเม็ดแรก ให้อากาส "ทุกคน ทุกสภาพร่างกาย" ได้พัฒนาเท่าๆ กัน แม้ปัจจุบันกายภาพต่างๆ จะดีขึ้นพอควร แต่ระบบยังไม่เอื้อให้คนพิการเดินทางได้เอง ทางเท้า กทม.ที่ยังไม่เอาไหน เดินทางไม่ได้ ต่างจังหวัดไม่ต้องพูดถึง ไปไม่ได้เลย สะพานลอยเต็ม กทม.ไปหมด ถามว่าใครขึ้นได้บ้าง" "นายมานิตย์" กล่าว

"นายมานิตย์" บอกต่ออีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเดินงานช่วยเหลือแบบสงเคราะห์มากเกินไป เช่น ให้เงิน ให้กู้ เป็นต้น แต่มันก็สำคัญปฏิเสธไม่ได้ แต่คนยังเดินทางไม่ได้ ออกจากบ้านไม่ได้ เดินทางไม่ได้ ไปโรงเรียนไม่ได้ เจ็บป่วย ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ฟันฝ่าเรียนจนจบ สถานที่ทำงานก็ไปไม่ได้อีก แล้วจะทำอย่างไร การช่วยเหลือบางอย่าง ทำร้ายคนพิการ รักลูก ต้องเลี้ยงลูกให้เติบโต แข็งแรง การให้เงินถือว่าควรให้อย่างระมัดระวังและมีแผน พัฒนาที่ดี เพราะอันตรายมาก ได้ฟรีจะไม่ทำงาน สุดท้ายเป้าหมายก็ไม่ต่างกัน 

 

 

นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ เผยแพร่ภาพการเดินทางที่มีอุปสรรค

 


"พัฒนาคนอย่างยั่งยืน คือ ปักธง "รัฐสวัสดิการ" ให้โอกาสสร้างให้คนแข็งแรง ไม่ว่าสภาพร่างกายเป็นแบบไหน ตอบได้ง่ายนิดเดียวนี่เป็นเป้าหมายการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน สุดท้ายแล้ว เพื่อลบคำว่า คน "พิการ" ออกไป" "นายมานิตย์" กล่าว

 

 

ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ (มธ.)

 

 

"ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ (มธ.) ให้ความเห็นประเด็น "รัฐสวัสดิการ" คนพิการแบบไหนที่จะสร้างสังคมไม่พิการเหมือนกับร่างกายคน ว่า ต้องเริ่มจากการเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์เท่ากันก่อน แล้วเป้าหมายต้องกำหนดจากปัญหาของประชาชน และรับฟังเสียงประชาชนที่เดือดร้อน เงินที่เพียงพอและยั่งยืนระยะยาวมาจากข้อเสนอต่างๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

 


แหล่งรายได้ "ดร.ทีปกร" อ้างอิงจาก "ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร" คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาเรื่อง "แนวทางการสร้างระบบภาษีและการปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ" ในงาน "ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2" และ ปาฐกถาเรื่อง "โควิดเป็นโอกาสให้ปรับสู่สวัสดิการถ้วนหน้า" ในงานครบรอบ "89 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม"

โดยสรุปแหล่งรายได้ที่สำคัญ ได้แก่

1. จัดระบบความสำคัญก่อนหลังในการจัดสรรงบประมาณประจำปี  กล่าวคือ ลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

2. ยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น BOI และ Capital Gain Tax

3. เก็บภาษีเพิ่มจากส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์และที่ดิน

4. ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ

5. ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ควรจะปรับลดลงมาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้

6. เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล

7. ปรับระบบภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีรายได้ที่จัดเก็บจากเงินเดือน เงินปันผลกำไร หรือที่ดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนรวยเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ามนุษย์เงินเดือน

8. หน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรนำมาให้ประชาชนเช่าทำมาหากิน เมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น

 


"ดร.ทีปกร" บอกต่อว่า หากปล่อยให้ประเทศเหลื่อมล้ำแบบนี้ต่อไป คนจำนวนมากยิ่งทำงานยิ่งจนลง แล้วก็จะบอกว่า ไม่มีงบประมาณประเทศไทยไม่ได้จน เพียงแต่ต้องยึดหลักเศรษฐศาสตร์ในการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งต้องใช้นโยบายภาษีและการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมีข้อเสนอมากมายของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ แต่ผ่านมาเป็นทศวรรษก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีรูปธรรมอย่างมีประสิทธิผล

 


"การจะเปลี่ยนแปลงได้มีผลกระทบต่อ 1% บนยอดปิรามิด เช่น 50 ตระกูลรวยสุด ส่วนมากกอบโกยจากการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในประเทศ ด้วยโอกาสที่ SME ไม่มีทางได้รับ ทำให้จากมีทรัพย์สิน 10% ของ GDP มาเป็น 1 ใน 3 ของ GDP แล้ว เพราะแต่ละปีรวยเพิ่มขึ้น 20-30% หรือ ตระกูลที่รวยที่สุดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทในปีแรกที่เกิดโควิด" "ดร.ทีปกร" กล่าว 

 


หลักการของการหารายได้จากภาษี คือ การเก็บภาษีจากความมั่งคั่งจากผู้ที่มีโอกาส มีกำลัง มีทรัพยากรมากกว่า เพื่อมาทำสวัสดิการลงทุนคุณภาพของชีวิตคนไทย ซึ่งแน่นอนว่า เป็นเรื่องยากแบบขับเคลื่อนเขยื้อนภูเขา จึงไม่น่าประหลาดใจที่ร่าง พ.ร.บ. บำนาญผู้สูงอายุ อย่างน้อย 5 ฉบับ จะถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลหลักคือเป็น "ภาระงบประมาณ"

 

 

หรือข้อเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมาย โดยคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ศึกษามาเป็นปีและผ่านความเห็นชอบในสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ จะถูกแช่แข็งมาหนึ่งปีแล้ว โดยไม่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ