ชีวิตดีสังคมดี

ส่อง​ 'นโยบาย​สาธารณสุข​' ​รู้ทันก่อนจรดปากกาเลือกตั้ง66 เช็กเลย!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับถอยหลัง 4​ วันเลือกตั้งล่วงหน้า​ อีก 11​ วันเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ​ สื่อเปิดเวทีนโยบายสาธารณสุข​ลดเหลื่อมล้ำ ภาคประชาชนเรียกร้องรวม​ 3​ กองทุนสุขภาพ​ ทุกพรรคประสานเสียงไม่รับข้อเสนอ​ เลือดไม่สาด​ แต่กระอักซ้ำใน​ ทว่าอย่างน้อยๆ รัปปากแก้ไขให้ดีขึ้น

ภาพรวม "นโยบายพรรคการเมือง" ​ให้ความสนใจประเด็นความเหลื่อมล้ำระบบ 3 กองทุน ได้แก่  กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (กรมบัญชีกลาง) กองทุนประกันสังคม (สปส.) และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ภาคประชาชนเสนอให้ "รวม 3 กองทุน" ​เข้าด้วยกัน โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบสาธารณสุข แต่ปฏิเสธ "รวม 3 กองทุน" และเสนอวิธีในการแก้ไขแตกต่างกันออกไป

นพ.สุรพงษ์ สิบวงศ์ลี พรรคเพื่อไทย

 

 

 

เริ่มต้นที่ "พรรคเพื่อไทย" มีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, ส่งเสริมการฉีดวัคซีน, มีโรงพยาบาลทุกเขตในกรุงเทพฯ, สร้างสถานชีวาภิบาลดูแลผู้สูงอายุ 

 

 

 

รอ.ดร.นพ.พิชาญศักดิ์ บุญมาศ พรรคพลังประชารัฐ

 

 


"พรรคพลังประชารัฐ" มีนโยบายเชื่อมข้อมูลสุขภาพ รักษาทั่วไทย, ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เท่ากับโรงพยาบาล, พาหมอไปหาถึงบ้าน เอายาไปส่งถึงบ้าน พร้อมระบบ telemedicine, tele-pharmacy 

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ พรรคภูมิใจไทย

 

 

 

"พรรคภูมิใจไทย" มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ และรักษาถึงบ้าน, ตั้งเครือข่ายโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเอกชนในกรุงเทพฯ, ให้ทุกสิทธิ์ ให้ระบบร่วมกันผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

 

 

นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ พรรคประชาธิปัตย์

 

 

 

"พรรคประชาธิปัตย์" มีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชน, กระจายอำนาจให้โรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน

 

 

 

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล
 

 

 

"พรรคก้าวไกล" มีนโยบายตรวจสุขภาพง่าย ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต, ลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลผ่านระบบ telemedicine, ให้บัตรทองเป็นสิทธิพื้นฐานให้ทั้ง 3 กองทุน, เพิ่มสิทธิการเบิกจ่ายเทคโนโลยีการรักษาใหม่ โดยการเพิ่มค่าความคุ้มค่า (ICER) ให้เท่ากับ 1 GDP

 


 

ทพ.ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา
 

 

 

"พรรคชาติไทยพัฒนา" มีนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท, ให้ค่าคลอดบุตร 5,000 บาท ให้เงินดูแล 10,000 บาท/เดือน กับเด็กเกิดใหม่, สร้างศูนย์เด็กเล็กครบทุกชุมชน, สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ, นำเครื่องปรุงรสออกจากสถานศึกษา ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 

 

 

 

นพ.พลเดช สุวรรณอาภา พรรคเสรีรวมไทย

 

 

 


"พรรคเสรีรวมไทย" มีนโยบายอัพเกรดสิทธประกันสังคมให้ดีขึ้น, เพิ่มสิทธิการรักษา เช่น การแปลงเพศ รวมทั้งการเทคฮอร์โมน 

 

 

 

นพ.เหรียญทอง แน่นหนา พรรครวมไทยสร้างชาติ

 

 

 


"พรรครวมไทยสร้างชาติ" มีนโยบายทุกเขตและอำเภอให้มี 1 โรงพยาบาลวิสาหกิจ, เพิ่มขีดความสามารถสถานพยาบาลในชุมชน 

 

 

 

ดร.สุวดี พันธุ์พาณิช พรรคไทยสร้างไทย

 

 


"พรรคไทยสร้างไทย" มีนโยบายเพิ่มคุณภาพบัตรทอง เป็นบัตรทองพลัส ใช้เทคโนโลยี AI และ telemedicine, สร้างศูนย์สุขภาพชุมชน, เพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ และอุปกรณ์การแพทย์ในต่างจังหวัด

 

 

 

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า

 

 

 

และ "พรรคชาติพัฒนากล้า" มีนโยบายสร้างระบบเวชระเบียนออนไลน์ แก้กฎหมายให้เชื่อมข้ามสังกัด, กระจายอำนาจให้ รพ.สต.อยู่กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัด (อปท.), ให้ทุนปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ 70 ขึ้นไป และคนพิการ หลังละ 50,000 บาท 

 

 

ขณะที่ข้อเสนอจากภาคประชาชนเสนอต่อพรรคการเมือง และได้รับการบรรจุไว้ในนโยบายพรรค

 

 

 

เริ่มที่ "พรรคเพื่อไทย" ได้แก่ ให้ สปสช.เป็นบริษัทประกันของรัฐขนาดใหญ่ และให้ทุกกองทุนสุขภาพมาซื้อประกันจาก สปสช. ทำให้เกิดมาตรฐานการรักษามาตรฐานเดียว หรือ 1 มาตรฐาน 1 บริษัทประกันสุขภาพ เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ปรับค่าตอบแทน

 

 

 

"พรรคก้าวไกล" มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลสิทธิข้าราชการแทนกรมบัญชีกลาง ผลิตแพทย์เพิ่ม ลดการลาออก ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ เพิ่มการตรวจคัดกรองของคนวัยทำงาน ไม่ผลักภาระให้นายจ้าง ออกกฎหมาย PRTR คุมอุตสาหกรรมกระทบสุขภาพ ดูแลสุขภาพผู้หญิง ผ้าอนามัยฟรี ตรวงเต้านม วัคซีนมะเร็งปากมดลูกทุกปี เงินเลี้ยงดูบุตร ศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มวันลาคลอด เพิ่มการจัดหาวัคซีนในระยะยาว ไม่ให้วัคซีนขาด เช่น วัคซีน HPV และขยายสิทธิ์ฉุกเฉิน

 

 

 

ส่วน "พรรคชาติพัฒนา" คือ เพิ่มสิทธิ์การดูแลอาชีพอิสระ เช่น ไรเดอร์

 

 

 

ด้าน "พรรคเสรีรวมไทย" ประชาชนร้องขอให้เพิ่มสิทธิ์ประกันสังคม และรวมกับบัตรทอง เพิ่มบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายให้เข้าถึงมากขึ้น และเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์

 

 

 


"พรรคไทยสร้างไทย" บรรจุไว้ในนโยบายพรรค คือ ยืนยัน Medical Hub ไม่แย่งทรัพยากรรัฐ ไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนเงินให้กับหญิงตั้งครรภ์ 

 

 

 


ปิดท้ายด้วย "พรรคชาติพัฒนากล้า" ได้แก่ สนับสนุนให้ชุมชนเป็น Care Giver และมีส่วนในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย (Rehab) และเพิ่มวันลาคลอด 180 วัน ฝากครรภ์ 0-6 ปี รับ 2,000 บาทต่อรายต่อเดือน 

 

 

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคประชาชนถูกปฏิเสธจากพรรคการเมือง ทว่า "สารี อ๋องสมหวัง" เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนประชาชน ยังเดินหน้าเรียกร้อง "รวม 3 กองทุน" ต่อไป เพราะมองว่า คนไทยควรได้รับสิทธิการเข้าถึงและรักษาพยาบาลที่ไม่เหลื่อมล้ำ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงระบบเดียวที่จ่ายเงินเพื่อรักษาตัวเอง ขณะที่การรักษาบางโรคไม่ครอบคลุมเท่าระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ด้วยซ้ำ 

 

 

 


สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาไว้ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่การประเด็นเรื่องการ "รวม 3 กองทุน"  คือ ความเหลื่อมล้ำ ทั้งสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่แตกต่างกัน ประเภทของโรคที่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล

 

 

 

ตลอดจนคุณภาพของการรักษาที่อาจแตกต่างกัน เพราะระบบแต่ละระบบมีการกำหนดอัตราการเบิกจ่ายแต่ละโรคที่แตกต่างกัน เช่น การฟอกไตสำหรับข้าราชการได้รับสิทธิในการรักษาไม่เกิน 2,000 บาทต่อครั้งไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่ระบบประกันสังคมได้รับสิทธิ 1,500 บาทต่อครั้งไม่เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และผู้ป่วยในระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคได้รับสิทธิในการฟอกไต 1,500 – 1,700 บาทต่อครั้งไม่จำกัดจำนวนครั้ง เป็นต้น

 

 

 

ขณะที่ข้าราชการสามารถเข้ารับสิทธิในการรักษาจากสถานพยาบาลของรัฐฯ ได้ทุกแห่ง แต่อีก 2 ระบบนั้นสามารถรับการรักษาพยาบาลเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐฯ หรือเอกชนที่เป็นเครือข่ายที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ยกเว้นกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต จึงสามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

 

 

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นของการชดเชยความเสียหายกรณีที่ผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล มีเพียงระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการชดเชยเบื้องต้นจากการรักษาที่ผิดพลาดกรณีที่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ หรือกรณีที่หาได้แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยจากกระบวนการศาลซึ่งต้องใช้เวลา

 

 

 


นอกจากความแตกต่างของสิทธิต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่ต่างกันอีกด้วย โดยผู้ที่เป็นสมาชิกระบบประกันสังคมเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราหนึ่งในสาม ส่วนที่เหลืออีกสองในสามร่วมจ่ายโดยรัฐฯ และนายจ้าง ในขณะที่ข้าราชการและผู้ใช้ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ต้องร่วมจ่าย

 

 

 

ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้มีการตั้งคำถามว่า ระบบประกันสุขภาพของไทยนั้นขัดกับมาตรา 51 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่? ภายใต้หมวด "สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ" ได้บัญญัติไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน"

 

 

 


สำหรับการเปิดเวทีดีเบตนโยบายด้านระบบสุขภาพและสาธารณสุขของพรรคการเมือง เพื่อให้ข้อมูลประชาชนช่วยในการตัดสินเลือกพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์กรสื่อ 5 สำนักข่าว ได้แก่  TheActive ThaiPBS, H focus, The Better, TODAY และคมชัดลึก ร่วมกับ 2 องค์กรสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  (สช.)  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ