ชีวิตดีสังคมดี

"Public Space" พื้นที่สาธารณะยุคใหม่ถูกใจคนไทย รัฐ-เอกชนต้องบุกช่วยกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด "Public Space" (พื้นที่สาธารณะ) ยุคใหม่ ธรรมชาติมาแรง ต้องมีต้นไม้สีเขียว ให้ร่มเงา ตอบโจทย์เมืองร้อน พลเมืองยุคใหม่หาพื้นที่สร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์เหนียวแน่น

"คุณภาพชีวิตของคนเมืองเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจ เพราะเทรนด์การอยู่อาศัย เปลี่ยนจากบ้านพร้อมสวน รถยนต์ ชานเมือง กลับมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ความต้องการ "Public Space" (พื้นที่สาธารณะ) เพิ่มสูงขึ้น มันถึงเวลาที่จะทำแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่ห้าง สรรพสินค้าที่เป็นศูนย์กลางจิตใจของคนกรุงเทพฯ" "ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล" ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ให้ความเห็นผ่านเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

 

 

 

หนึ่งความเห็นของนักสถาปัตยกรรมศาสตร์ อธิบายถึงความจำเป็นต้องมี "Public Space" เพื่อตอบโจทย์พลเมือง ในสังคมยุคใหม่ ทว่าความท้าทาย "Public Space" ในยุคที่ที่ดินแทบทุกตารางวามีกรรมสิทธ์และถูกทำให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจนหมด การเกิดขึ้นของพื้นที่สาธาณะในความหมายเดิม เป็นเรื่องยากสำหรับการพัฒนาเมืองยุคใหม่ 

ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST)

 

 

 

ไม่ต่างจาก "ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์" สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) ที่ให้ความเห็นว่า "Public Space" มีความสำคัญในเชิงความสัมพันธ์ ทั้งสังคม หากมองในภาพใหญ่ประเทศ "Public Space" ในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ดีขึ้นจากสมัยก่อนมาก ตอบสนองการใช้ชีวิตในปัจจุบันดีมากขึ้น มีสวนสาธารณะต่างๆ พอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี พลเมืองมีไลฟ์สไตล์ต้องการธรรมชาติ เพราะสภาพอากาศเมืองไทยร้อน การมีต้นไม้สีเขียวให้ร่มเงาจึงตอบโจทย์คนเมือง

 

 

 

"แต่ถ้ามอง "Public Space" ในแง่ของเวลา กทม.แอบช้าไป หากเทียบกับจำนวนประชากรคนกรุงหนาแน่น แต่รัฐทำคนเดียวไม่ได้ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่กับเอกชน เอกชนต้องมอบที่ดินให้ รัฐต้องสร้างกลไกมากขึ้น สร้างแรงจูงใจ เช่น ให้โบนัสสร้างอาคารได้สูงขึ้น ลดภาษีได้ รัฐได้ที่ดินทำพื้นที่สาธารณให้ปนะชาชน เอกชนก็ได้ทำ CSR (ประชาสัมพันธ์) ธุรกิจไปด้วย" "ผศ.ดร.รัฐพงษ์" อธิบาย

 

 

 

การออกแบบ "Public Space" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยมากเวลาลงพื้นที่ดูงาน หลักๆ คือ ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ เช่น คนพิการที่ต้องใช้ทางลาด แต่ทางลาดบางแห่งแคบ บางแห่งชันเกินไป ฉะนั้น การออกแบบต้องรองรับและเอื้อเฟื้อต่อทุกคน ให้เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยตลอดเวลา ทั้งเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานที่ง่าย

 

 

 


"คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ ปัญหาเลยตามมาเยอะ ความจริงทำให้ดีไปเลย ทำได้ ไม่ต้องมาตามแก้ ตามทุบทำใหม่ ตอนนี้ผมมองว่าสามารถเริ่มทำได้เลย เพราะไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ใช้บริการ ผู้สูงอายุชาวต่างชาติมาเที่ยวเยอะมาก ไทยต้องเตรียมความพร้อมได้แล้ว" "ผศ.ดร.รัฐพงษ์" ระบุ

 

 

 


"ผศ.ดร.รัฐพงษ์" บอกต่อว่า หากมองในภาพเล็กลง "Public Space" ตามหัวเมือง หรือย่านชุมชน เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเช่นกัน เพราะ "Public Space" เป็นจุดทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเหนียวแน่นขึ้น แต่ภาพในปัจจุบันโดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ มีไม่เท่ากรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ "Public Space" ของพวกเขาคือ "วัด" แต่สามารถทำให้พื้นที่นั้นเป็น "Public Space" ทำให้เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ยกตัวอย่างที่จ.เชียงใหม่ ชุมชนย่านถนนวัวลาย ได้ชื่อว่าเป็น แหล่งผลิตเครื่องเงินที่สร้างชื่อเสียง คนในชุมชนเกิดการสืบทอดองค์ความรู้ เป็นจุดให้คนรุ่นใหม่มารวมตัวกัน เกิดความหวงแหนในชุมชน รวมถึงดึงการท่องเทียวเข้ามาในชุมชนอีกด้วย

 

 

 

""Public Space" ความต้องการแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อย่างเมืองหลวงต้องออกแบบให้รองรับเทศกาลสำคัญๆ ของประเทศ เช่น สงกรานต์ ซึ่งกิจกรรมที่ผมไปร่วมมาล่าสุดคือ การประกวดแบบปีที่ 2 "MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention" ที่ CDAST ทำร่วมกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นโครงการที่ดีมาก เขาต้องการเฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ตอบโจทย์กิจกรรมทางสังคมและรองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองยุคใหม่ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคนในสังคม คนรุ่นใหม่มีไอเดียใหม่ๆ เยอะ และสามารถนำไปพัฒนาได้จริง" "ผศ.ดร.รัฐพงษ์" กล่าวในที่สุด

 

 

 

1 ในผลงานออกแบบที่ส่งเข้าประกวดในโครงการ

 

 

 

การมี "Public Space" ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเอกชนในหลายประเทศมอบที่ดินให้ภาครัฐทำพื้นที่สาธารณะให้ประชาชน ในประเทศไทยเองเริ่มมีสัญญาณที่ดี กทม.หน่วยงานรับผิดชอบให้ความสำคัญในประเด็น "พื้นที่สาธารณะ" ทั้งเพิ่มสวนสีเขียว การจัดการปัญหารุกล้ำทางสาธารณะ เช่นนั้น "Public Space" ที่ตอบโจทย์พลเมืองคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 


 

logoline