ชีวิตดีสังคมดี

แนะปรับโครงสร้าง "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" พบลดหย่อนบางรายการทำรัฐสูญเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาพัฒน์ แนะควรปรับโครงสร้าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษีลดหย่อนทำรัฐสูญรายได้จำนวนมาก หลังพบคนมีรายได้สูงใช้ลดหย่อนจากการบริจาคกลายเป็นรายได้มูลค่าสูงกลับคืนให้ผู้เสียภาษี

"ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" แหล่งรายได้รัฐ และเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" เป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มี ความเท่าเทียมกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด โดยในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.5 ของรายได้รัฐทั้งหมด อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.1 หมื่นล้านบาท

 

 

ในปีงบประมาณ 2546 เป็น 6.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585 สำหรับการจัดเก็บ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วนร้อยละ 13.2 ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 301,159 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปี โดยมีผู้ยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน ซึ่งเป็น ผู้มีเงินได้สุทธิ (มีเงินได้เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และบริจาค) ที่ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีการจัดเก็บ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ว่า สำหรับบทบาทในการเป็นแหล่งรายได้ พบว่า ในช่วงปี 2556 - 2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บ มีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 12.2 – 13.7 และหรือประมาณร้อยละ 2.09 ของ GDP ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประทศกลุ่ม OECD ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 24.1 ขณะที่ในการลดความเหลื่อมล้ำ "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" มีส่วนช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ตลอดช่วงปี 2513 – 2558 แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากภาพรวมอัตราภาษีมีลักษณะที่ก้าวหน้าน้อยกว่าหลายประเทศ ชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทย ยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ (redistribution) ได้มากนัก ซึ่งสาเหตุสำคัญ มีดังนี้

1.แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี โดยมีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.8 ล้านคน เป็นลูกจ้างที่มีรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือนจำนวน 18.6 ล้านคน แต่มีผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีของกรมสรรพากรเพียง 10.8 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 27.7 ของผู้มีงานทำทั้งหมด อีกทั้งสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ประชาชน มีรายได้เพิ่มขึ้น

 

2.ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีเงินได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่กลับเป็นแหล่งรายได้ที่มีมูลค่าสูง และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้มีเงินได้ได้มาก โดยเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

 

3.การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้และสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลงจากการได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่ปี 2564 การลดหย่อนภาษียังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51.8 ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระทั้งหมด

        

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้

 

1. มีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของคนบางกลุ่ม

 

2.ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท โดยพิจารณาถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม

 

3.ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยจะต้องมีการพิจารณาทบทวนเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและอัตราลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น

 

4.สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี โดยการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี อันจะทำให้รัฐ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความมั่นคงทางการคลังตามมา

 

“โครงสร้าง "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" มีความจำเป็นจะต้องปรับอยู่ตลอดเวลาในสอดคล้องกับสภาพสังคมในช่วงนั้น ๆ อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันเราพบว่าโครงสร้างภาษีเดิมทำให้คนที่มีรายได้มากได้รับสิทธิการลดหย่อนมากกว่าคนที่มีรายได้ โดยเฉพาะการนำเอายอดการบริจารมาเป็นส่วน ลดหย่อนภาษี โดยในปี 2563 มีสัดส่วนการลดหย่อนภาษีจากการบริจาคสูงกว่า 40%ขึ้นไป ซึ่งการลดหย่อนภาษีส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 มากถึง 1.1 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างภาษีนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบครอบต้องมีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยรายละเอียดว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างอย่างไรนั้นกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด สภาพัฒน์เชื่อว่าหากสามารถปรับโครงสร้างภาษีและเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มคนรวย ปรับรูปแบบการลดหย่อนที่ขณะนี้เอื้อให้คนมีรายได้สูงสามารถลดหน่อยได้จำนวนมาก ๆ แต่คนรายได้ต่ำกลับลดหย่อนภาษีได้น้อยนิดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทีเกิดขึ้นในประเทศไทยได้” นายดนุชา กล่าวสรุป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ