ชีวิตดีสังคมดี

มหากาพย์ 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' แย่งเค้กชิ้นใหญ่ สุดท้ายประชาชนคือคนรับกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มหากาพย์ประมูล 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ศึกแย่งเค้กชิ้นใหญ่ ยืดเยื้อ ฟ้องร้อง สุดท้ายประชาชนต้องทนรับกรรมเพราะโครงการก่อสร้างล่าช้า จับตาจะไปต่อหรือต้องเริ่มต้นใหม่

กินเวลามานานกว่า 3 ปี สำหรับการประกวดราคาหาผู้รับเหมาเข้ามาก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์  ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยโครงการดังกล่าวมีการประกาศเชิญชวนเอกชนเจ้าร่วมประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) 

 

 

แต่ที่ผ่านมาเหมือนว่าการประกวดราคาก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" จะไม่ได้ราบรื้น และเกิดอาการสะดุดเพราะเจ้าของโครงการอย่าง รฟม. ได้ขอปรับหลักเกณฑ์การประมูลกลางคันทำให้การประกวดราคาในครั้งแรกต้องยกเลิก ซึ่งจุดนี้เองถือว่าเป็นชนวนเหตุให้เกิดมหากาพย์การประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" กลายเป็นเหมือนสงครามแย่งเค้กชิ้นใหญ่

  • ทำไม "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ถึงเป็นเค้กชิ้นใหญ่ 

 

สำหรับโครงการ  "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" (บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาวรองลงมาจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-เคหะสมุทรปราการ,สนามกีฬา-บางหว้า) โดย "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" มีระยะทาง 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี วิ่งเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ 

 

-แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ วิ่งตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้ถนนราชดำเนิน เข้าถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรี-แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 ลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนพระราม9 ลอดใต้คลองแสนแสบ ไปถนนรามคำแหง-บริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนจากใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ บนถนนรามคำแหง-บริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี สิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์

รวมค่าก่อสร้างเฉพาะงานโยธา 172,906 ล้านบาท  ค่างานระบบ 31,000 ล้านบาท 

 

ดูรายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีส้มฉบับเต็ม คลิกที่นี่

  • ชนวนเหตุประมูล "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ลากยาวถึง 3 ปี (พ.ศ.2563-2566)

 

-เริ่มต้นจากวันที่ 3 ก.ค. 2563 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) หรือ การอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดําเนินกิจการของรัฐ ทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และสังคม

 

-หลังจากนั้นมีการขายซอง RFP (Request for Proposal) หรือเอกสารทีแสดงข้อมูลและความต้องการของ รฟม. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการพบว่ามีเอกชนสนใจซื้อซองมากถึง 10 ราย จากนั้นในช่วงส.ค. 2563 รฟม.ได้แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน

 

  • จุดเริ่มต้นมหากาพย์ถึงขั้นฟ้องร้อง ยืดเยื้อ ค้างคา ไปต่อไม่ได้

 

-BTSC หนึ่งในเอกชนที่ยื่ซองประมูลครั้งที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลมีคำสั่งขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะที่มีการปรับปรุงใหม่ไว้ชั่วคราว ด้านรฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ใหม่ที่เอกชนเคยร้องไว้ 

 

-ผ่านไปนานกว่า 1 ปี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 คณะกรรมมาตรา 36 ตามพรบ.ร่วมทุน (พ.ศ.2562) ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือ ล้มการประมูลครั้งแรก 

 

-ตลอดปี 2564 เรื่องราวยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องการฟ้องร้องยังคงดำเนินต่อไปทำให้ รฟม. ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้ โดยระหว่างทาง เอกชนยังยื่นฟ้อง รฟม.และคกก.ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อมาในช่วง ก.ย. 2564 ศาลปกครองสูงสุดศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่ห้ามรฟม.เปิดประกวดราคาครั้งใหม่ 

 

  • ประกวดราคา "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ครั้งที่ 2 ครั้งสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด 

 

-24 พ.ค. 2565 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีเอกชนที่เข้าซื้อซอง RFP 2 ราย คือ   BEM และ  ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1

 

-เรื่องราวฟ้องร้องยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางกระบวนการประกวดราคาครั้งที่ 2 ซึ่งรฟม.ได้มีการเปิดรับข้อเสนอของเอกชน และเปิดซองข้อเสนอของโครงการสายสีส้ม ในขณะที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่เอกชนร้องขอ และเห็นว่าการประกวดราคาครั้งที่ 2 เป็นดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 

 

-16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด แต่การประกวดราคายังไม่สามารถเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและประกาศผู้ชนะการประกวดราคาก่อสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากขณะนี้ยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลมากถึง 3 คดี ได้แก่ คดีปรับปรับหลักเหณฑ์และวิธีการพิจารณการประมูลครั้งที่ 1 ร้องโดย BTSC 

 

-คดีอาญาฟ้องร้อง รฟม. และคกก.มาตรา 36 ในข้อหายกเลิกประกวดราคาซึ่งส่อไปในทางไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และ กำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย  

 

  • ชูวิทย์ ปูด ปม "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ส่อทุจริตมีเงินทอนสูงถึง 30,000 ล้านบาท 

 

ดูเหมือนว่าโครงการนี้จะยังมีปมที่ต้องคลี่คลาย และมีเบื้องหลังที่น่าจับตามอง เพราะล่าสุด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉถึงกระบวนการประกวดราคาของ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุว่า  ขั้นตอนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มมีหลายจุดที่น่าสงสัยพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ รวมไปถึงยังแง้มว่ามีเงินทอนจากโครงการจำนวน 30,000 ล้านบาทที่ถูกโอนไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อเตรียมสำหรับการใช้เป็นเงินทุนในการเลือกตั้ง 

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

 

-ด้านรฟม.ก็ออกมาโต้กลับทันทีว่ากระบวนการทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบไม่ได้มีการล็อกสเปค พร้อมกับท้าว่าหากชูวิทย์มีหลักฐานการโอนเงินทอน 30,000 ล้านบาทไปประเทศสิงคโปร์จริงก็ให้เอาหลักฐานออกมาแสดงได้เลย 

 

ท้ายที่สุดแล้วรถไฟฟ้าขบวนนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ไหนต้องจะต้องจับตากับต่อไป เพราะขณะนี้แม้แต่กระทรวงคมนาคมก็ยังได้แต่เฝ้ารอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดว่าจะออกมาเป็นแบบใดเพื่อที่จะได้บังคับให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเดินไปในทางที่ถูกต้อง เพราะหากการก่อสร้างล่าช้าออกไปอีกแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินรถตลอดระยะทางเกือบ 40 กม. หากสายสีส้มตะวันตกล่าช้า สายสีส้มตะวันออกก็เปิดให้บริการไม่ได้แม้ว่าจะก่อสร้างเสร็จแล้วก็ตามประชาชนก็คงต้องนั่งรอกันอีกต่อไป 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ