ชีวิตดีสังคมดี

สะท้อนปัญหา 'ค่าอาหารกลางวัน' ผ่านเคส ครูชัยยศ ความผิดพลาดที่เกิดจากระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สะท้อนปัญหา 'ค่าอาหารกลางวัน' นักเรียนผ่านกรณี ครูชัยยศ ความผิดพลาดที่เกิดจากระบบของกระทรวงศึกษา มาตรฐานดูแลโรงเรียนทั่วประเทศควรมีความยืดหยุ่น

จากปัญหา "ค่าอาหารกลางวัน" นักเรียนไร้คุณภาพ ได้ปริมาณน้อย ไม่ตอบโจทย์โภชณาการที่เด็กควรได้รับ เพราะงบประมาณต่อหัวน้อยเกินกว่าที่โรงเรียนจะจัดสรรอาหารกลางวันให้แก่เด็กได้อย่างเหมาะสม ลุกลามต่อเนื่องมาจนถึงกรณี ครูชัยยศ สุขต้อ ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ถูก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิด ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพียงเพราะจัดสรรอาหารกลางวัน สำหรับเด็กอนุบาลและเด็กประถม ไปให้แก่นักเรียนชั้นมัธยม เพราะส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน 

ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องราวใหญ่โต เพราะเพียงแค่การโยกอาหารบางส่วนให้แก่นักเรียนโตเท่านั้น แต่กลายเป็นว่า ครูชัยยศ ต้องถูกให้ออกจากราชการ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ ป.ป.ช. ได้มีการแจกแจงรายละเอียด ในการบริหารจัดการค่าอาหารกลางวันของคณะกรรมการจัดซื้ออาหารกลางวัน โดยพบว่ามีการ หนึ่งในคณะกรรมได้ทำการยืมเงินโครงการจัดซื้ออาหารกลางวันสัปดาห์ละ 60,000 บาท แต่มีการสั่งซื้ออาหารในราคาสัปดาห์ละ  48,500 บาท (โดยไม่มีการทำสัญญาจ้างและไม่มีหลักฐานการเข้ามาประกอบอาหารแต่อย่างใด) โดยในส่วนเงินที่เหลือประมาณสัปดาห์ละ 10,000 บาท จำนวน 15 สัปดาห์ เป็นเงิน 172,240 บาทนั้น ด้าน ครูชัยยศ สุขต้อ ลงชื่อรับรองอันเป็นเท็จ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบในภายหลังว่าการจัดซื้อจัดหาอาหารกลางวัน  จึงถือว่ามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1), (4) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

รายละเอียดที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้นเป็นการพิจารณาตามหลักกฎหมายมากเกินไปหรือไม่ เพราะหากดูตามพฤตินัยแล้วการเกลี่ยเงิน "ค่าอาหารกลางวัน" ไปให้นักเรียนมัธยมของ ครูชัยยศ ไม่ได้มีเจตนาเอาทรัพย์สินไปใช้ในการส่วนตัว โดยนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ว่า กรณีของ ครูชัยยศ นั้นมีความผิดจากการกระทำภายนอก โดยการเซ็นเอกสารเพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่หากพิจารณาวิธีการจะพบว่าไม่ใช่การนำเอาเงินเป็นของตัวเอง ดังนั้นการกระทำอาจจะผิดวินัย เพราะไม่ได้ขอหรือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่ไม่ถึงขั้นจะต้องผิดกฎหมายอาญา เพราะหากพิจารณาตามเจตนาแล้วการนำเงินบางส่วนไปเป็นค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนยากจนนั้นไม่ถือว่ามีเป็นทุจริต เพราะตามระเบียบกฎหมายได้ระบุเอาไว้ว่าโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ดังนั้นการให้ออกราชการ กระบวนการฟ้องร้องใดๆ ควรจะต้องยกเลิกไปทั้งหมด 

 

 

นอกเหนือจากประเด็นของ ครูชัยยศ  ที่ต้องออกจากข้าราชการไปเพราะการเกลี่ยงบ "ค่าอาหารกลางวัน" แล้ว สิ่งที่ต้องตั้งคำถามกันซ้ำๆ คือ ทำไมหน่วยงานที่ดูแลจึงปล่อยให้เรื่องการจัดหาอาหารกลางวันสำหรับเด็กไม่เพียงพอจนครูในโรงเรียนจะเข้ามาบริหารจัดการกันเอง นายสรรพสิทธิ์ ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การจัดหาอาหารกลางวันเด็กถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ซึ่งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ดูแล และบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องรองบจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่สิ่งที่หน่วยงานท้องถิ่นทพได้คือการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชน ในรูปแบบ CSR เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาด้านอาหารกลางวัน เพราะต่างประเทศก็มีการใช้วิธีการในลักษณะดังกล่าว 

 

 

นอกจากนี้ระบบการศึกษาการออกระเบียบเกี่ยวกับเรื่อง อาหารกลางวัน รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ในการจัดหาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพแก่นักเรียนควรจะให้เป็นไปตามดุลยพินิจมากกว่าการเอาระเบียบมาวัด เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งทั่วประเทศมีสถานภาพ และบริบทที่แตกต่างกันดังนั้นระเบียบควรจะมีความยืดหยุ่น และมีความแตกต่างกันตามสถานภาพของโรงเรียน  ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่ใช้การเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการปรับให้เหมาะสมกับความแตกต่างเท่านั้น  ดังนั้นตนจึงเห็นว่าปัญหาเรื่อง "ค่าอาหารกลางวัน" มีปัญหาของระบบตั้งแต่แรก

 

 

ขณะที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 28/2559 เรื่องให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  ตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติกำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า  15 ปี โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอคณะรัฐมนตรีในการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายปี ได้แก่ค่าใช้จ่าย ดังนี้ 

1.ค่าจัดการเรียนการสอน 
2.ค่าหนังสือ
3.ค่าอุปกรณ์การเรียน
4.ค่าเครื่องแบบนักเรียน
5.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
6.ค่าใช้จ่ายอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  

โดยกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ทดแทนและขยายผลต่อจากคำสั่งนี้อล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 6  เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ