ครม.อนุมัติ ‘งบสปสช.ปี67’ วงเงิน 2.17 แสนล้านบาท ครอบคลุมสิทธิกว่า 47 ล้านคน
ครม.อนุมัติงบประมาณ สำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 2.17 แสนล้านบาท ครอบคลุมสิทธิกว่า 47 ล้านคน งบรายหัว 3,472.24 บาทต่อผู้มีสิทธิ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายในวงเงิน 217,628,959,600 บาทหรือประมาณ 2.17 แสนล้านประกอบด้วยตามความเห็นของสำนักงบประมาณ แบ่งเป็น
- ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,671,000 คน วงเงิน 165,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,922 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 2.43 คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อผู้มีสิทธิซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
- ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,413 ล้านบาทค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 603 ล้านบาท รวมวงเงิน 4,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.97
- ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 12,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,855 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.69 ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (DM/HT และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน) ประกอบด้วย งบบริการควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง
- ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,339,000 คน วงเงิน 24,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,662,938,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.45
นอกจากนี้ ยังมี ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ค่าบริการสาธารณสุข ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการครม.มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุข ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ