'สาธารณสุข' พร้อมรับมือ 'โรคที่มากับน้ำ' ท่วม
รมว. 'สาธารณสุข' สั่งตั้งทีมแพทย์ ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ต้องเผชิญ 'โรคที่มากับน้ำ' ท่วมและฟื้นฟูสุขภาพจิต
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำชับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อุทกภัยทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานการแพทย์ฉุกเฉินหรือมูลนิธิในการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม 3 กลุ่ม
ประกอบด้วยกลุ่มโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส สัตว์ แมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู แมลง ปลิง เป็นต้น และอุบัติเหตุอื่นๆ ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม
โดยเน้นให้ความรู้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถึงบ้านแล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด รับประทานอาหารสุกร้อน ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หากมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
หน่วยงานสาธารณสุขทุกพื้นที่ได้เตรียมจัดบริการทางการแพทย์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อจำเป็น และสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ โดยยังคงให้การดูแลผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง เช่น ที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้บริการตรวจรักษา 79 ราย
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบสะสม 28 จังหวัด ส่วนใหญ่สถานการณ์เริ่มกลับสู่ปกติ ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ระดับน้ำลดลงแล้ว ยกเว้นเพชรบูรณ์ระดับน้ำยังทรงตัว
ส่วนกาฬสินธุ์และอุบลราชธานี ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 11 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 2 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง และ รพ.สต. 8 แห่ง โดยสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ 10 แห่ง มีเพียง 1 แห่ง ที่ต้องปิดบริการ คือ รพ.สต.บ้านต้นธง อ.แม่พริก จ.ลำปาง