ชีวิตดีสังคมดี

พัฒนาบ้านราคาถูก ชู 3 แผนนำร่องพัฒนา 'บ้านมั่นคง' รองรับผู้มีรายได้น้อย

25 ก.ย. 2566

เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย บ้านเช่า ราคาถูก ชู 3 'บ้านมั่นคง' รองรับผู้มีรายได้น้อย ปรับอาคารร้าง พื้นที่เปล่าทำห้องเช่า เปลี่ยนคนไร้บ้านเป็นคนมีบ้าน ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จึงมีแนวคิดร่วมขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง ผ่านเวทีเสวนาแนวทางการพัฒนานโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก เพื่อแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ผ่านคณะทำงานพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน โดยมี 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักพัฒนาสังคม กทม. สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย กทม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายคนไร้บ้าน ชาวชุมชนและผู้เดือดร้อนที่อยู่อาศัย ร่วมลงนามแสดงเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนทำงานในเมือง ผู้มีรายได้น้อย 

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  (พอช.) กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะห้องเช่า  บ้านเช่าราคาถูก  มีความสำคัญสำหรับคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว  คนต่างจังหวัดที่เพิ่งเข้ามาทำงานในเมือง โดยจะผลักดัน และนำร่องโครงการต่าง ๆ 3 แนวทาง คือ 1.ให้ชุมชนในโครงการ "บ้านมั่นคง" ปรับปรุง  หรือจัดสร้างเป็นห้องเช่า  2. พัฒนาปรับปรุงอาคารร้างเป็นห้องเช่า  โดยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน  เช่น  เจ้าของอาคาร  ดึงภาคเอกชนเข้าร่วม  3. จัดหาที่ดินว่างเปล่ามาทำเป็นห้องเช่าราคาถูก  โดยมี 2 พื้นที่นำร่อง  คือ ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้านที่ จ.ปทุมธานี บ้านพูนสุข และอาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก กรุงเทพฯ การขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก จะเป็นเครื่องมือที่ให้ทุกหน่วยงาน ร่วมทำงานเป็นเครือข่าย

นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม.  กล่าวว่า  นโยบายการเข้าถึงสิทธิการมีบัตรประชาชน จะทำให้กลุ่มคนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิ เพราะส่วนใหญ่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีสิทธิในหลายเรื่อง จึงเปิดทะเบียนบ้านของกรมฯ  เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าถึงสิทธิ เข้าระบบการจ้างงาน ประกันสังคม การรักษาพยาบาล ทำให้ใช้สิทธิในกรุงเทพฯ ได้ กลุ่มเปราะบางต้องถูกพัฒนา เรื่องที่อยู่อาศัยต้องเป็นสวัสดิการ ควรผลักเป็นนโยบายระดับชาติ ที่รัฐควรสนับสนุน

 

 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการศึกษาโอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้งความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และครอบครัว สสส. พม. และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน ลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านปี 2566  พบจำนวนคนไร้บ้าน 2,499 คน การแจงนับ คือหัวใจที่ทำให้เขาเริ่มมีตัวตน จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้มองเห็นตัวตนของคนไร้บ้าน นำมาสู่มาตรการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่พัฒนามาจากฐานข้อมูลเหล่านี้ คือ โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการฯ สสส. สนับสนุน 60%  คนไร้บ้านสมทบ 60%  ในอัตราค่าเช่า 1,700 –2,200 บาท/เดือน  ในโมเดลที่ทำมาประสบความสำเร็จดี หลายคนอาชีพก็มั่นคงขึ้น หลายคนก็เริ่มถอนตัวจากคนไร้บ้านไปได้ งานวันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทาง พอช. และภาคีฯ ได้นำไปขับเคลื่อนเป็นนโยบายฯ พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร  สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมทำหน้าที่สนับสนุน แก้ไขปัญหาคืนสิทธิ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่คนไร้บ้านควรจะได้รับต่อไป
 

 

 

นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า การช่วยเหลือคนด้อยโอกาสต้องพิจารณาตามความเป็นจริง  ตามศักยภาพของแต่ละคน การช่วยเหลือเท่ากันอาจจะไม่ใช่คำตอบ คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากก็ต้องช่วยมากกทม. ทำงานกับคนไร้บ้าน พบคนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชน และมีปัญหาสุขภาพ กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข  มีสำนักงานเขตให้ทำบัตร แต่เขาไปเองไม่ได้ บางครั้งต้องจูงมือเข้าไป เราทำงานร่วมกับ พม. มีรถบริการทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่  มีศูนย์บริการไปตั้งที่ศูนย์ประสานงาน ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยใน กทม.  ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบาย9 ดี 9 ด้าน รวมถึงนโยบายที่อยู่อาศัย ห้องเช่าราคาถูก แก้ข้อบัญญัติของสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยสำเร็จแล้ว เพื่อจะมาดูแลเรื่องที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกต่อไป

 

 

น.ส. นพพรรณ พรหมศรี ประธานคณะทำงานพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน  และเลขาธิการ มพศ. กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยสำคัญมาก คนมีบ้านยากลำบาก กลุ่มอื่น ๆ มีนโยบายสนับสนุน เช่น พอช. ทำโครงการ "บ้านมั่นคง" การเคหะฯ  ช่วยกลุ่มรายได้น้อยอื่น ๆ แต่คนที่อยู่ในห้องเช่าราคาถูก ไม่มีใครมองเห็น หรือสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยเลย ภาระราคาที่อยู่อาศัยสูงเมื่อเทียบกับรายได้แต่ละเดือน และบางคนรายได้ไม่มั่นคง เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องพื้นฐาน รัฐต้องช่วย  ต้องให้สอดคล้องกับคนในแต่ละบริบท มูลนิธิทำเรื่องนี้ได้ชวนหน่วยงานอื่น ๆ มาทดลองทำกับคนจนเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ทดลองรูปแบบ โดยพยายามรวบรวมข้อเสนอรูปธรรม 2-3 แนวทาง พัฒนาคิดค้นไปเรื่อย ๆ ให้ชัดเจนขึ้นในอนาคตว่า การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยควรจะเป็นแบบไหน