
ภารกิจพลิกโฉมสลัมริมคลอง สู่ 'บ้านมั่นคง' รายได้น้อยแต่ที่อยู่อาศัยมั่นคง
กว่าจะเป็น "บ้านมั่นคง" ให้คนริมคลองลาดพร้าวและเปรมฯ มีบ้านใหม่ ชีวิตใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ "พอช." ในฐานะผู้จัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ประชาชนที่ย้ายบ้านขึ้นจากคลอง เพราะยังมีบ้านไม่ยอมย้าย เวลาล่วงเลยมา 4 ปี "พอช." ผ่านดราม่าและเดินหน้าอย่างไร ติดตามจากรายงาน
"คำที่โดนมาตลอดคือ "บ้านไม่มั่นคง" แต่พยายามอธิบายข้อเท็จจริงมาตลอด ชาวบ้านเข้าใจว่า "พอช." เข้าไปรื้อบ้าน บางชุมชนไม่ให้เข้าพื้นที่เลย แต่ผมไม่ท้อนะ เพราะเราได้โจทย์มาว่า ต้องเปลี่ยนสลัมผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยมั่นคง ต้องนิ่ง อดทน ใจเย็น วันหนึ่งชุมชนจะเปิดพื้นที่ให้เราเข้าไปสร้าง "บ้านมั่นคง" ให้พวกเขา" "ธนัช นฤพรพงษ์" รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดใจในภารกิจสร้างบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากร
"ธนัช" เล่าว่า โครงการ "บ้านมั่นคง" เติบโตมาได้ 20 ปี สร้างบ้านมาแล้ว 140,000 หลังคาเรือน และภายในปี 2570 ต้องสร้างให้ได้อีก 800,000-900,000 หลังคาเรือนตามแผนพัฒนาประเทศไทย 20 ปี สลัมทั่วประเทศต้องเปลี่ยนเป็น "บ้านมั่นคง" ทั้งหมด 1,055,000 หลังคาเรือน
1 ในเป้าหมาย คือ ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากร จำนวน 8,600 กว่าหลังคาเรือนที่ล่าช้ามาแล้ว 4 ปี ตามแผนต้องเสร็จในปี 2562 ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น บางชุมชนยังไม่เปิดพื้นที่ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้ารื้อบ้านรุกล้ำลำคลองเพื่อก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต แต่ถึงอย่างไร "พอช." ต้องนิ่งและอดทนรอเวลาเข้าพูดคุยจนกว่าคนในชุมชนเห็นต้องกัน "ทุกครัวเรือนต้องได้รับการดูแลทั้งหมด"
ขณะนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของ 8,600 หลังคาเรือนอยู่ระหว่างการดำเนินการ และอีกครึ่งหนึ่งยังต้องพูดคุยอธิบายสร้างความเข้าใจในเหตุและผลจนกว่าจะยินยอมเปิดพื้นที่
"ส่วนตัวมองว่า คนที่ไม่ยอมมีไม่กี่คน แต่ 95% คือ พร้อมเปิดพื้นที่หากรับฟังเรา บางชุมชนยอมรับเงื่อนไขแล้ว แต่วันต่อมาปฏิเสธ เพราะรับข้อมูลมาใหม่ ทั้งผ่อนไปแล้วบ้านก็ไม่ตกเป็นของชาวบ้าน ผ่อนหมดรัฐฯ เอาคืน รื้อบ้านทิ้ง ทั้งที่ความจริงผ่อนหมดรัฐฯ ก็โอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวบ้านเลย นี่คือ ความน่ารักและใจดีของกรมธนารักษ์เจ้าของพื้นที่ที่ยกสิ่งปลูกสร้างให้ชาวบ้านเลย ทั้งที่ตามกฎหมายตกเป็นของรัฐฯ แต่นี่ยกให้เลย ข่าวลือที่ว่า ผ่อนหมดก็รื้อไม่เป็นความจริง บางคนรอออกโฉนด ผมอยากอธิบายว่า ที่ริมคลองเกือบทั้งหมดเป็นของกรมธนารักษ์ โอกาสได้โฉนดไม่มีแน่นอน ตอนนี้กรมธนารักษ์ฟ้องไปแล้ว 70 หลังคาเรือนที่ไม่ยอมรื้อ มีคำสั่งศาลสูงสุดให้รื้อย้ายแล้ว แต่ยังไม่ยอมรื้อ" "ธนัช" อธิบายข้อเท็จจริง
"รอง ผอ.พอช." อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามกฎหมายบ้านยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าบ้านจนกว่าจะผ่อนหมด แต่เล่มทะเบียนบ้านทางสำนักงานเขตออกให้ทันที และเป็นทะเบียนบ้านถาวร ไม่ใช่ชั่วคราวอย่างที่เข้าใจกัน
ส่วนข้อกังวลที่ว่า สหกรณ์ชุมชนในนามผู้บริหารจัดการงบประมาณก่อสร้าง "บ้านมั่นคง" ภายใต้การดูแลของ "พอช." บางแห่งไม่โปร่งใส คณะกรรมการทุจริต "รอง ผอ.พอช." อธิบายว่า ความจริงคณะกรรมการเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจที่สุด บางชุมชนกรรมการบางคนยังไม่ได้ "บ้านมั่นคง" ด้วยซ้ำ เขาเสียสละให้คนในชุมชนก่อน อย่างน้อยๆ เพื่อลดแรงกดดัน แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะบ้านกรรมการบางคนยังอยู่ในจุดที่เปิดพื้นที่ไม่ได้ แต่กรณีมีกรรมการบางคน บางแห่งถูกพูดถึงในทางไม่ดี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องตรวจสอบ
"ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ชาวบ้านเข้าใจผิด ทำให้เวลา "พอช." ลงพื้นที่ต้องเจอเหตุการณ์ล้มประชุม โดนโห่ไล่ สารพัดที่จะโดน บางชุมชนเข้าไม่ได้เลย ถ้าจะเข้าต้องทำหนังสือขออนุญาต ผมจะบอกว่า ยังไงโครงการต้องตามเป้า แค่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับคนในชุมชน" "รอง ผอ.พอช." ระบุ
อีกประเด็นสำคัญ คือ ชุมชนกลัวว่า "บ้านมั่นคง" เป็นการสร้างภาระหนี้สินให้ประชาชน บางคนผ่อนชำระไม่ไหวถูกฟ้องร้อง "รอง ผอ.พอช." ชี้แจงว่า ระบบการผ่อนชำระหนี้สินของแต่ละชุมชนแตกต่างกัน แล้วแต่กำหนดกติการ่วมกัน แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น เช่น ชุมชนร่วมใจ คลองเปรมฯ เรียกเก็บทุกวันอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของเดือน และเรียกเก็บอีกทีอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน เพื่อให้โอกาสคนที่จ่ายไม่ทัน แต่ต้องชำระค่าปรับตามกติกา บางหลังทยอยจ่ายหลายๆ รอบจนกว่าจะครบจำนวนเต็ม บางคนปิดบัญชีเลยก็มี เป็นต้น ส่วนคนที่ถูกฟ้องร้อง คือ คนที่ไม่ยอมจ่ายเลยตั้งแต่เข้าอยู่ สหกรณ์ชุมชนจึงต้องจัดการขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
"ชาวบ้านผ่อนไม่ได้ตรงกำหนด คือ เรื่องปกติมาก แต่เมื่อไรที่จ่ายตรง นั้นคือ ผิดปกติ เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ เป็นคนมีรายได้น้อย เราจะไปบังคับเหมือนธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ บางคนจ่าย 3-4 รอบค่อยครบก็มี ช่วงโควิดระบาดหนักๆ สหกรณ์ชุมชนพักชำระหนี้ให้ 6 เดือน หยุดต้น หยุดดอก แต่กับคนที่ไม่ยอมจ่ายเลยแม้แต่ครั้งเดียวจำเป็นต้องฟ้อง" "รอง ผอ.พอช." กล่าว
ภารกิจ "บ้านมั่นคง" ไม่ได้มีเป้าหมายสร้างบ้านให้ก่อนแล้วผ่อนจ่ายทีหลังอย่างเดียว แต่ยังสร้างบ้านกลางให้กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้เลย เช่น บ้านหลังนั้นมีผู้สูงอายุรับแค่เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 800 บาท เป็นคนพิการ เป็นต้น โดยใช้งบอุดหนุน และเงินคนในชุมชนเฉลี่ยช่วยกัน รวมถึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ช่วยสนับสนุน และมอบให้โดยไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว
"วันนี้ถ้าผู้ใหญ่ไม่คิดถึงตัวเอง ก็ให้คิดถึงลูกหลาน เขาจะได้มีบ้านมั่นคงอยู่อาศัย เวลาพาเพื่อนมาบ้านจะได้มีความภาคภูมิใจ" "รอง ผอ.พอช." กล่าวทิ้งท้าย