ชีวิตดีสังคมดี

ส่งออกผักผลไม้ไทย 4 เดือนยอด 3 แสนล้าน สวนกระแสภาคอุตสาหกรรมติดลบ

ส่งออกผักผลไม้ไทย 4 เดือนยอด 3 แสนล้าน สวนกระแสภาคอุตสาหกรรมติดลบ

19 มิ.ย. 2566

ปลัดพาณิชย์ปลื้มผลส่งออกผักผลไม้ไทย 4 เดือนยอดพุ่ง 3 แสนล้าน ทุบสถิติปี 65 ทั้งปี 5.3 แสนล้าน ขณะที่ส่งออกอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ

"นายกีรติ รัชโน" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ "สร้างแต้มต่อ "SME" ไทยในตลาดโลก" ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีล้ำหน้าไปมากทั้ง เอไอ โรบอท แชทจีพีที โต้ตอบได้เหมือนมนุษย์ แต่ยังเชื่อว่า มีบางอย่างเทคโนโลยี ทำงานหรือสู้มนุษย์ไม่ได้ มนุษย์มีความเหนือกว่าเทคโนโลยี ในเรื่องเอสเอ็มอี (SME)

 

 

ถ้าดูเมื่อปี 2565 กระทรวงพาณิชย์มีส่วนในการสนับสนุน จีดีพี (GDP) ประเทศกว่า 6 ล้านล้านบาท แม้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องท่องเที่ยว แต่ถ้าไปดูในส่วนที่เล็กลงมาอย่าง "SME" กว่า 3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้า บริการ ที่ทำให้มูลค่ากว่าส่งออกมากกว่า 1.0 ล้านล้านบาท 

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

 

 

ภาพรวมการส่งออก-นำเข้าปี 2566 ยังติดลบ เดือน เม.ย.มีมูลค่า 21,723 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 737,788 ล้านบาท ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ม.ค.ถึงเดือนเม.ย.มีมูลค่าส่งออกกว่า 92,003 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการนำเข้าระหว่างเดือน ม.ค. ถึงเดือนเม.ย.  96,519 ล้านเหรียญ

 

ส่งออกผลไม้

 

 

เมื่อไปดูสินค้าที่ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา สินค้าเกษตร โตกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 304,450 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ มังคุดสด ทุเรียนสด ทุเรียนแช่แข็ง ล้วนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น เมื่อไปดูภาพรวมการส่งออกประเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน แล้วพบว่า ประเทศไทยติดลบน้อยกว่าประเทศอื่น 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลให้การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชของไทยไปต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของทั่วโลก โดยในปี 2565 มียอดการส่งออกกว่า 23.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.36 แสนล้านบาท อันดับ 1 ผลไม้สด อันดับ 2 ข้าว อันดับ 3 ยางพาราและผลิตภัณฑ์

 

 

 

"ช่วง 6 เดือนหลังยืนยันว่า จะทำให้ดีกว่านี้ จะทำให้เป็นบวก 1-2% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ให้เอกชนนำ รัฐเป็นคนหนุน เอกชนจะบอกตลาดไหนน่าสนใจ ให้พาณิชย์ไปช่วยตรงไหน เรายินดี โดยเฉพาะตะวันออกกลาง แอฟริกา น่าสนใจ ตั้งไว้ให้โตกว่า 20% ส่วนในภูมิภาคเอเชียใต้ ก็อยากให้โตกว่า 10% มีหลายสิ่งที่จะทำ ที่เราตกผลึก เตรียมไว้หมดแล้ว ก่อนหน้าเปิดเอฟทีเอ 14 ฉบับ 18 ประเทศ อยู่ระหว่างเจรจาอีก 8 ฉบับ เป็นสิ่งที่เราพยายาม ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดโลก" "นายกีรติ" ระบุ

 

 

 

"นายกีรติ" บอกต่ออีกว่า บทบาทกระทรวงพาณิชย์ ที่จะช่วยผู้ประกอบการมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริการจดทะเบียนธุรกิจ การอำนวยความสะดวก นำระบบดิจิทัลเข้ามา ให้เกิดความสะดวกสบาย มีการคาดการณ์ นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา ต้องเตรียมรองรับให้พร้อม โดยกระทรวงพาณิชย์เอง จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมธุรกิจไทยให้เข้มแข็งแข่งขันได้ สร้างธรรมาภิบาลธุรกิจให้มีความน่าเชื่อถือ กำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย 

 

 

 

กระทรวงพาณิชย์ยังส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ภายใต้ 3P 1S มีหลักสูตรการอบรวม ส่งเสริมจำนวนมาก ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับการอบรมในปี 2566 ตั้งเป้าให้มีมากกว่า 6 หมื่นราย จะช่วยผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ นวัตกรรม การดีไซน์ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบอื่น ให้ "SME" มีความแข็งแกร่ง 

 

 

 

"เราพยายามสื่อสารว่า ให้ใช้การตลาดนำการผลิต เราบอก "SME" เสมอว่า ควรไปศึกษาผู้ซื้อก่อนชอบแนวไหน ผลิตอะไรดี อย่าทำให้เขาซื้อเพราะแปลก หรือไม่เคยเห็น ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ในวันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะถ้าเกิดการซื้อซ้ำ จะเป็นสิ่งที่ดี ต้องทำสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เรื่องช่องทางตลาด จัดจำหน่าย เรามีหน้าที่หาช่องทางให้ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ทั้งแบบออฟไลน์ ออนไลน์ เช่นเดียวกับ การให้บริการด้านข้อมูลต่างให้ "SME" รู้ว่า ตลาดกำลังต้องการแบบไหน และอะไร นำมาซึ่งการวิเคราะห์การที่จะทำสินค้าอะไรดี" "นายกีรติ" กล่าว 

 

 

 

"นายกีรติ" กล่าวอีกว่า คำถามที่มักโดนถามตลอด ไม่ว่าจะเป็นส่งออกอะไรดี ก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่า "SME" มีอะไรอยู่ในมือ แต่ทุกอย่างเราต้องทำงานด้วยกัน เอาสินค้าผู้ประกอบการมา แล้วไปช่วยขาย ตลาดตอนนี้ในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ กำลังน่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งตลาดเดิม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ แต่ต้องกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ 

 

 

 

คำถามที่มักโดนถาม "SME" เดินไปทางไหน ทำธุรกิจอะไรดี แน่นอนตอนนี้ ท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา สิ่งที่ตามมา อาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม จะเริ่มกลับมาหลังเราเปิดประเทศแล้ว เป็นสิ่งที่คนไทยถนัด ฟื้นฟู ธุรกิจการท่องเที่ยว 

 

 

 

ด้านส่งออก ยังยืนยันว่า เรื่องอาหาร เกษตรกรรม ที่เรามีจุดแข็ง ขอให้ความมั่นใจได้ว่า เราเป็นแหล่งผลิตอาหาร ด้วยความที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป เราก็ต้องหาทางเลือกใหม่ๆทางด้านอาหาร เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารอะไรที่กินแล้วไม่ป่วย อาหารสู้โรคภัยไข้เจ็บ อาหารทางการแพทย์ อาหารทางออร์แกนิค หรือการทำสินค้า รักษ์โลก จากวัสดุธรรมชาติ ในสินค้าไลฟ์สไตล์ กระเป๋า เสื้อผ้า นำมาปรับใช้ได้หมด

 

 

 

"สิ่งที่เราต้องตระหนักคือ พยายามอย่าทำอะไรเกินตัว เป็นสิ่งที่ต้องเตือน หน่วยงานรัฐพร้อมสนับสนุน ความรู้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ถ้ายังทานเหล้า การพนัน สิ่งเหล่านี้ช่วยไม่ได้ ถ้าใช้เงินผิดประเภท ถ้าเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงยังไงก็รอด" "นายกีรติ" กล่าวในที่สุด

 

 

 

ผู้ร่วมเสวนา "Smart SME # ยุค AI เขย่าโลก" จัดโดยโพสต์ทูเดย์ สื่อเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566

 

 

 

อย่างไรก็ดี การปาฐกถาพิเศษโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานเสวนา "Smart SME # ยุค AI เขย่าโลก" จัดโดยโพสต์ทูเดย์ สื่อเครือเนชั่น ภายในงานมีนายวีระชัย อมรถกลสุเวช รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) น.ส.เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส นายนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม AIS ร่วมเสวนาด้วย