ชีวิตดีสังคมดี

ไข้เลือดออกระบาด สธ.ผนึก 10 องค์กรลงนามช่วยยุติเสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ถึงครึ่งปีไข้เลือดออกคร่าชีวิตคนไทยแล้ว 17 ราย ผู้ป่วยสะสมอีก 20,000 ราย สูงกว่าปีที่แล้ว 4 เท่า สธ.ผนึก 10 องค์กรรัฐ-เอกชนช่วยกันยุติการเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ ส่งละครสั้น-ศิลปินขวัญใจเด็กช่วยสร้างความตระหนักรู้ทัน

15 ปีคนไทยเสียชีวิตเพราะ "ไข้เลือดออก"  1,237,467 ราย และปีนี้ 2566 ยังไม่ถึงครึ่งปี เสียชีวิตแล้ว 17 ราย "นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์ "ไข้เลือดออก" ในไทย ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยถึง 20,000 ราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย 

 


 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

 

 

ผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" สูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคใต้ และภาคกลาง กลุ่มผู้ป่วยสูงสุด คือ นักเรียนอายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี เพื่อควบคุมสถานการณ์โรค "ไข้เลือดออก" จึงดำเนินการ 3 กลยุทธ์ คือ 1. Rebrand รณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค ปรับภาพลักษณ์หน่วยงานรัฐด้วยนโยบายเชิงรุก 

2. Rethink เปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของ "ไข้เลือดออก" เริ่มต้นจากการดูแลตนเอง และ 3. Reconnect ผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

 

 

"นพ.โอภาส" บอกต่อว่า กิจกรรม 1 ในกลยุทธ์ คือ ประกวดสื่อสร้างสรรค์ "ASEAN Dengue Day Contest 2023" ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เงินรางวัลรวม 100,000 บาท วันนี้ (9 มิ.ย. 2566) ได้ประกาศผลและมอบรางวัลในงาน "วันไข้เลือดออกอาเซียน" ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก" (Moving Forward to Zero Dengue Death) โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 

 

 

กลยุทธ์สู้ไข้เลือดออกรับความร่วมมือจาก กทม., บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), กลุ่มบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Dengue-Zero และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 

 

 

แอปพลิเคชันรู้ทัน

 

 

"นายยูจิ ชิมิซึ" ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บอกด้วยว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการปกป้องชีวิตผู้คนให้ปลอดภัยจากโรค "ไข้เลือดออก" คาโอได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน "รู้ทัน" แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยสุขภาพรอบตัว ได้เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านสุขภาพตั้งแต่ปี 2564

 

 

และขณะนี้กำลังร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในการป้องกันโรค "ไข้เลือดออก" ผ่านการสร้างแบบพยากรณ์เพื่อคาดการณ์โอกาสในการเกิดโรค การแพร่ระบาด เพื่อหาวิธีป้องกันให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก

 

 

นวัตกรรมเซรั่มไล่ยุง

 

 

พร้อมสานต่อโครงการ "GUARD OUR FUTURE" โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กนักเรียนเป็นหลัก เพราะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ "ไข้เลือดออก" ผ่านการให้ความรู้และวิธีการป้องกันไข้เลือดออกที่ถูกต้องแก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง โดยตั้งเป้าจัดกิจกรรมกว่า 160 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และได้ร่วมมือกับวง Paper Planes เป็นศิลปินขวัญใจกลุ่มเป้าหมายมาร่วมแต่งเพลงให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออก พร้อมทั้งมิวสิควิดีโอเพื่อเตือนถึงอันตรายของไข้เลือดออกแก่เด็กๆ และเยาวชนไทย

 

 

 

 

"นายปีเตอร์ สไตรเบิล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวด้วยว่า "ไข้เลือดออก" เป็นหนึ่งในโรคที่สร้างภาระให้แก่ประชาชนและระบบสาธารณสุขของไทย จึงเห็นความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกผ่านนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจากองค์กรทั้งด้านสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง

 

 

 

 

"เน้นการป้องกันในโรงเรียนและชุมชน ผ่านการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ "ไข้เลือดออก" ในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ แคมเปญสร้างความตระหนักรู้ผ่าน อิงมา หรือ Dengue Virtual Human และเว็บไซต์ www.knowdengueth.com ที่นำข้อมูลเกี่ยวกับสถิติผู้ป่วย ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และวิธีการป้องกัน เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของโรคไข้เลือดออกได้อย่างทันท่วงที โดยหวังว่าการสื่อสารนี้จะส่งเสริมการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้" "นายปีเตอร์" ระบุ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ