ชีวิตดีสังคมดี

เช็กเลย 'สิทธิบัตรทอง' ทำฟันได้ 13 รายการ จริงหรือไม่ ทำอะไรได้บ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ใช้ 'สิทธิบัตรทอง' รีบเช็กเลย สิทธิทันตกรรม ทำฟันได้ 13 รายการ จริงหรือไม่ สามารถทำอะไรได้บ้าง สปสช. มีคำตอบ

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผยแพร่ข้อมูล กรณีที่มีการประกาศเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สิทธิทันตกรรม ใช้ 'บัตรทอง' ทำฟัน ได้ 13 รายการ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง 

 

 

โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมสำหรับผู้ใช้ 'สิทธิบัตรทอง' (30 บาท) ที่มีปัญหาช่องปากหรือด้านทันตกรรม สามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ โดยแสดงบัตรประชาชน หากหน่วยบริการตามสิทธิอุปกรณ์ไม่พร้อม จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สามารถรักษาได้ตามขั้นตอน

 

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้าน ทันตกรรม ที่คุ้มครอง มีดังนี้

 

1. การถอนฟัน

 

2. การอุดฟัน อุดคอฟัน 

 

3. ขูดหินปูน การเกลาฟันหรือเกลารากฟัน (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษา)

 

4. ฟันปลอมฐานพลาสติก ทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้ ฟันปลอมแบบถอดได้มีอายุการใช้งาน 5 ปี หากผู้รับบริการได้รับความเห็นจากทันตแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องซ่อมฟันปลอมก่อน 5 ปี ผู้รับบริการสามารถใช้สิทธิได้

 

5. รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม (รากฟันน้ำนม)

 

6. ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

 

7. ผ่าฟันคุด (ตามข้อบ่งชี้ของทันตแพทย์)

 

8. เคลือบหลุมร่องฟัน (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6 - 24 ปี)

 

9. การทาฟลูออไรด์วาร์นิช (เด็กอายุ 9 เดือน - 5 ปี)

 

10. การเคลือบฟลูออไรด์ (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6 - 24 ปี) ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำลายแห้งจากการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ หรือจากการกินยารักษาโรค รวมทั้งผู้ที่มีเหงือกร่น รากฟันโผล่ ที่ยากต่อการทำความสะอาด

 

11. โรคปริทันต์อักเสบ สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมคุ้มครอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษา 

 

12. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ให้บริการผู้ป่วยที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา

 

13. จัดฟัน ในผู้มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ (ตามดุลยพินิจของทันตแพทย์)

 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทร. 02 1414000 หรือ สายด่วน สปสช. 1330 เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

สิทธิบัตรทอง ทำฟันได้ 13 รายการ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ