'วัคซีนโควิด' เข็มกระตุ้นปีละครั้ง ช่วยสูงวัยรอดอาการหนักและเสียชีวิต
โควิด 19 ระบาดระรอกใหม่ แค่ 7 วัน เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีนโควิด วอนลูกหลานพามาฉีดวัคซีน
สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส "โควิด 19" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระหว่างวันที่ 14 – 20 พ.ค. 2566 พบจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,632 ราย เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับ "วัคซีนโควิด" กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วย ใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย
ผู้ป่วยที่พบมักไม่ได้รับ "วัคซีนโควิด" และยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด จังหวัดที่ยังคงพบผู้ป่วยได้สูงที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.สมุทรสาคร
ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีด "วัคซีนโควิด" หรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่ม ทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุปฏิเสธรับ "วัคซีนโควิด" ของประชาชน ส่วนใหญ่เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพวัคซีน ตามข่าวที่ปรากฏมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ทั้งเสียชีวิต ป่วยติดเตียง
ด้าน "กรมควบคุมโรค" (คร.) พยายามชี้แจงว่า ประสิทธิผลการฉีด "วัคซีนโควิด" ผู้สูงอายุต้องฉีดเข็มกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง เริ่มต้นปี 2566 เป็นต้นไป โดยฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เป็นการเตรียมพร้อมก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลของการแพร่ระบาด โดยสามารถฉีดพร้อมวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในวันเดียวกันได้
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์" ให้คำแนะนำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ นอกจากวัคซีนป้องกันโควิด 19 แล้วยังมี LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป) ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันได้โดยออกฤทธิ์ใน 6 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเอง
ตามปกติแล้วร่างกายจะใช้เวลาในสร้างภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ สำหรับการรับ "วัคซีนโควิด" ทั่วไป ดังนั้น LAAB จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ได้รับ "วัคซีนโควิด" มาก่อน แนะนำให้เว้น 2 สัปดาห์ แล้วจึงฉีด LAAB[2]
- ผู้ที่เคยได้รับ LAAB มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน แนะนำให้ฉีด LAAB เข็มที่ 2[3]
- ผู้ที่เคยได้รับ LAAB เข็มที่ 2 มาแล้ว แนะนำให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน แล้วจึงกลับมารับ LAAB ซ้ำ[4]
สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง และได้รับ "วัคซีนโควิด" เข็มสุดท้ายนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นชนิดใดก็ได้ตามความสมัครใจ ซึ่งแต่ละชนิดล้วนแล้วแต่ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ต่างกัน