ชีวิตดีสังคมดี

หมอรักษาผิดพลาด 'ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง' ได้ เช็กขั้นตอนได้ที่นี่

หมอรักษาผิดพลาด 'ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง' ได้ เช็กขั้นตอนได้ที่นี่

20 พ.ค. 2566

ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง หากได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ยกเว้นพยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิ "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" เบื้องต้นได้

ผู้มีสิทธิ "บัตรทอง" (บัตรทอง 30 บาท) หากใช้สิทธิรักษาแล้วได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลซึ่งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิ "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" เบื้องต้นได้ ตามมาตรา 41 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ ที่ไม่ใช่พยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" ไม่ใช่เงินชดเชย แต่คือ การบรรเทาความเดือดร้อน ลดความขัดแย้ง ไม่พิสูจน์ถูกผิด 

  • "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" ประเภทอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้น 

ประเภทที่ 1 เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร (240,000-400,000)

ประเภทที่ 2 พิการหรือสูญเสียอวัยวะ (100,000-240,000)

ประเภทที่ 3 บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง (ไม่เกิน 100,000 บาท)
 

 

  • ใครยื่นคำร้อง "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" ได้บ้าง 

ระเบียบระบุไว้ว่า คนที่สามารถขอรับเงินจะต้องเป็นคนที่ได้รับความเสียหาย หรือทายาท หรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริหาร โดยมีระยะเวลา ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย

 

 

 

  • เขียนคำร้อง "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" อย่างไรบ้าง 

1.ชื่อ-นามสกุล ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหาย
2.ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล
3.ชื่อของหน่วยบริการที่ให้การรักษาพยาบาล
4.วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล และวันที่ทราบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น
5.สถานที่ที่สามารถติดต่อผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายได้โดยสะดวก
6.ระบุภาระที่ผู้รับบริการจะต้องรับผิดชอบเศรษฐานะ

 

 

  • หลักฐาน "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" ใช้อะไรบ้าง

หลักฐานประกอบคำร้องของผู้ได้รับความเสียหาย ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หรือสูติบัตร หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมีการมอบอำนาจ) เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงรายละเอียดข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณา

 

 

  • ไปยื่นคำร้อง "ขอรับเงินช่วยเหลือบัตรทอง" ที่ไหน

1. หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13
3. หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “ศูนย์สิทธิบัตรทอง”
4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร