ชีวิตดีสังคมดี

'นิทานก่อนนอน' แบบไหนสร้างเด็กสมบูรณ์รอบด้าน ชวนอ่านได้ที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทสัมภาษณ์ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หน้าหน้าพรรคก้าวไกล มักเอยถึงลูกสาวอย่าง "น้องพิพิม" ชอบให้คุณพ่อ "อ่านนิทาน" เรื่องเดิมให้ฟังซ้ำๆ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่ความผิดปกติแต่อย่างใด "คมชัดลึก" รวบรวมวิธีรับมือให้เหมาะสม และความสำคัญของการอ่านนิทาน สรุปครบจบที่นี่

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และลูกสาวขณะลงพื้นที่หาเสียงการเลือกตั้งปี 2566
 

 

"นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์" จิตแพทย์ อธิบายถึงความสำคัญของการ "อ่านนิทาน" ให้ลูกฟัง ว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นกิจกรรมที่ทุกบ้านสามารถทำได้ ขอแค่มีหนังสือนิทาน มีผู้ปกครองคอยอ่านให้ฟัง แม้จะไม่ได้อ่านสนุกหรือตลกมากก็เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมหาศาล 

ภาพประกอบ

 

 

ความจริงแล้วผู้ปกครองจะเลือก "อ่านนิทาน" ให้เด็กฟังในช่วงเวลาไหน ตอนไหนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวจะสนับสนุนให้ "อ่านนิทาน" ก่อนนอน เพราะอยากให้ผู้ปกครองใช้เวลาส่งลูกเข้านอนหากิจกรรมทำร่วมกัน ถือเป็นเวลาคุณภาพ ในช่วง 20.30 น. ไม่เกิน 21.00 น. ใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที หากเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ถือว่าใช้เวลาน้อยมาก

"ทำติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลา 3 ปี จะเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งเด็กมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เฉลียวฉลาด รักการอ่าน เป็นเด็กดี เชื่อฟัง ที่สำคัญเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนหน้า และเป็นเหมือนข้อบังคับของบ้านว่าไม่ว่าผู้ปกครองจะทำงานหรือมีกิจกรรมอะไร อย่างน้อยในหนึ่งวันจะต้องส่งลูกเข้านอนและมีเวลาคุณภาพร่วมกัน" "นพ.ประเสริฐ" อธิบาย

 

 

ภาพประกอบ

 


"นพ.ประเสริฐ" บอกอีกว่า การ "อ่านนิทาน" เป็นการผจญภัยไปกับพ่อแม่ เป็นช่วงเวลาคุณภาพที่ผู้ปกครองจะจดจ่ออยู่กับการอ่านและลูก สร้างความคิดที่ว่าแม่มีอยู่จริง

 

 

การ "อ่านนิทาน" ก่อนนอนในช่วงเวลาเดียวกันในทุก ๆ วัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังวินัยการตรงต่อเวลา เช่นเดียวกับการกำหนดเวลาตื่นนอน กินอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เมื่อเด็กมีความตรงต่อเวลาเหล่านี้อย่างแม่นยำก็มีแนวโน้มว่าเรื่องอื่น ๆ ก็จะทำได้ตรงเวลาเช่นกัน

 


"ทุกครั้งที่เด็กได้ฟังนิทานหรือได้อ่านด้วยตัวเอง เซลล์ประสาทจะแตกแขนงออกมาเป็นร่างแหของเส้นประสาท ใน 2 ขวบปีแรก สมองของเด็กจึงเปลี่ยนแปลงทุกวัน ที่สำคัญอย่าเป็นกังวลหากเด็กๆ จะชอบฟังหรือ "อ่านนิทาน" เล่มเดิม เพราะถึงแม้ว่าหนังสือจะเป็นเล่มเดิม เรื่องราวเดิม แต่การคิด การตีความ หรือการวาดภาพในสมองของเด็กจะต่างกัน" "นพ.ประเสริฐ" ระบุ

 


การ "อ่านนิทาน" เป็นการผจญภัยไปในจิตใต้สำนึก เพราะหนังสือนิทานมีหลากหลายเรื่องราว มีทั้งด้านดี สมหวัง สนุกสนาน สดชื่น แจ่มใส และบางเรื่องก็อาจแฝงด้านมืดมาเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ผู้ปกครองต้องอย่ากลัวที่จะหยิบยื่นเรื่องราวที่หลากหลาย เพราะ 99% ของนิทานประกอบหนังสือภาพ ศิลปินนั้นสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ

 

 

การที่เด็กได้ฟังหรือ "อ่านนิทาน" เหล่านี้ก็เหมือนกับการระบายความรู้สึกในใจออกมา และหนังสือเหล่านี้ยังให้แง่คิดในเรื่องของการพลัดพราก ผี ปีศาจ และความตาย ที่จะเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กซึมซับและเรียนรู้

 

 

คำถามต่อไปคือ ต้องเริ่ม "อ่านนิทาน" ตอนช่วงอายุเท่าไหร่ จึงจะให้ผลดีที่สุด "นพ.ประเสริฐ" บอกว่า  ช่วง 3-7 ปี ถือเป็นปีทองของพัฒนาการด้านภาษา เพราะเด็กมีแรงจูงใจที่จะใช้ภาษาเพื่อสื่อสารกับคนรอบข้าง เพราะต้องการหาความหมาย  ยิ่งคิดได้ ยิ่งถาม ยิ่งพูด ยิ่งเชื่อมโยงความหมายเดิมเข้ากับความหมายใหม่ ยิ่งทำให้เกิดจินตนาการ ยิ่งกระตุ้นให้เด็กช่างถามมากขึ้น ช่างพูดมากขึ้น

 

 

การ "อ่านนิทาน" ยังกระตุ้นให้เด็กมีสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสดีมากขึ้น ยิ่งได้ออกไปประสบกับสิ่งใหม่ๆ ยิ่งเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น ความสงสัย

 

 

ตอกย้ำว่า การ "อ่านนิทาน" สำคัญ เพราะ "สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี" ระบุว่า การ "อ่านนิทาน" ให้เด็กฟัง ช่วยให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์รอบด้าน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครอง ทักษะการเข้าสังคมและมีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

 

 

การ "อ่านนิทาน" จะช่วยสร้างบรรยากาศที่มีความสุขและสนุกสนาน ทำให้เด็กไม่รู้สึกเหมือนถูกสอนและเด็กจะสัมผัสได้ว่าเป็นที่รักของพ่อแม่ เด็กจะชอบฟังนิทานเพราะนิทานมีเรื่องราวที่สร้างเสริมจินตนาการตอบสนองความต้องการของความรัก ต้องการให้คนอื่นสนใจ 

 

 

  • ทำไมลูกไม่เบื่อนิทานเรื่องเดิม? 

เด็กเล็กๆ เรียนรู้จากการทำสิ่งต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทุกครั้งที่เขาทำพฤติกรรมหนึ่งซ้ำๆ ในสมองจะมีการเชื่อมต่อสัญญาณที่มากขึ้น ทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น

 

 

ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ "อ่านนิทาน" เรื่องเดิมให้เขาฟัง การคิด การตีความภาพวาดในสมองของเด็กจะแตกต่างกันออกไป อธิบายง่ายๆ ว่า เด็กๆ ได้เรียนรู้มากขึ้นทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ "อ่านนิทาน" ให้ฟัง แม้จะเป็นเรื่องเดิมที่ฟังมาเป็นร้อยครั้งแล้วก็ตาม

 

 

การ "อ่านนิทาน" เรื่องเดิมๆ ส่งผลต่อความรู้สึกคุ้นเคย อบอุ่น ปลอดภัยในหัวใจของเด็กๆ การที่เขาได้ยินเสียงของคนที่เขารักอ่านนิทานเรื่องเดิม ในอ้อมกอดอุ่นๆ อ้อมกอดเดิม ทำให้เด็กๆ รู้สึกมีความสุข แม้คุณพ่อคุณแม่จะเบื่อสักแค่ไหน แต่สำหรับลูกแล้ว นี่คือโมเม้นท์ที่วิเศษที่สุดเลยทีเดียว

 

 

  • พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร ?

เลือกนิทานที่เหมาะกับวัยของลูก เพื่อให้ลูกมี "หนังสือนิทานเล่มโปรด" ที่มีคุณภาพ แนะนำว่า เด็กเล็กๆ ชอบคำกลอน คำซ้ำไปซ้ำมา รับรองว่าลูกฟังไม่มีเบื่อพ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกเปลี่ยนนิทานเรื่องใหม่หากลูกยังไม่พร้อม

 

 

ขอให้อดทน "อ่านนิทาน" ต่อไปก่อน หากอยากให้ลูกลองฟังนิทานเรื่องใหม่บ้าง อาจเล่าเป็นของแถมหลังจากเล่านิทานเรื่องเดิมจบแล้วจะดีกว่า

 

 

พฤติกรรมชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ ไม่ได้เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวล หากมองในแง่ดี คุณพ่อคุณแม่ก็จะเข้าใจว่า หนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาให้ลูกนั้นได้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า เพราะมันไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงให้ลูกเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีของลูก ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจอีกด้วย

 

 

  • สรุป 9 ข้อประโยชน์การ "อ่านนิทาน" 

1. เสริมปัญญาเด็ก นิทานจะช่วยให้เด็กฉลาดทั้งทางปัญญา (IQ) และฉลาดทางอารมณ์ (EQ) 
2. ทำให้เด็กช่างคิด ช่างถาม ช่างสังเกต 
3. เรียนรู้ภาษา มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษา 
4. ฝึกจับประเด็น การเล่าซ้ำจะทำให้เด็กจำได้ทั้งเรื่อง มองภาพรวมเข้าใจเรื่องได้เร็ว 
5. ฝึกสมาธิ การตั้งใจฟังนิทาน เป็นการฝึกสมาธิให้เด็ก 
6. จินตนาการ การฟังนิทานเป็นการเสริมสร้างจินตนาการ 

 

 

ภาพประกอบ

 

 

7. คุณธรรม ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่เด็ก จากเนื้อหาในนิทาน 
8. รักการอ่าน การ "อ่านนิทาน" ให้ฟังบ่อยๆ ช่วยปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน 
9. ความสุข บรรยากาศการ "อ่านนิทาน" เป็นความสุขในครอบครัว เป็นกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย และสามารถทำได้ทุกวันโดยเฉพาะก่อนนอน นับเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าของเด็ก และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ