ชีวิตดีสังคมดี

‘ล้างไต’ แบบที่ใช่ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยบัตรทอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ล้างไต’ แบบที่ใช่ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยบัตรทอง เปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการบำบัดทดแทนได้โดยพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ให้การรักษา แต่ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการให้ความรู้กับผู้ป่วย เพื่อให้เลือกวิธีล้างไตที่เหมาะสมกับตนเอง

 ประเทศไทยมีผู้ป่วยไตเสื่อมราว 8 ล้านคน เข้าสู่การบำบัดทดแทนไตราว 150,000 คน ขณะที่แต่ละปีมีผู้ป่วยรับการบำบัดทดแทนไตรายใหม่ประมาณ 20,000 คน แม้ว่า “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท จะให้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างครอบคลุม 


เปิดทางเลือกให้ผู้ป่วยเลือกวิธีการบำบัดทดแทนได้โดยพิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งปัจจุบันมี 3 วิธี คือ 1.ล้างไตทางช่องท้อง (PD) 2.ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และ 3.ผ่าตัดปลูกถ่ายไต
 

 

นพ.ชุติเดช  ตาบองครักษ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นวิธีดีที่สุด แต่มีข้อจำกัดใหญ่คือการจัดหาอวัยวะปลูกถ่าย ต่อมาคือล้างไตทางช่องท้อง วิธีผู้ป่วยจะได้รับการวางสายเข้าทางหน้าท้องเพื่อปล่อยน้ำยาเข้าสู่ช่องท้องเพื่อแลกเปลี่ยนกับสารละลายของเสียในร่างกาย แล้วถ่ายน้ำยานี้ออกมา เฉลี่ยทำวันละ 4 ครั้ง มีข้อดีคือผู้ป่วยจะได้ล้างไตถ่ายของเสียทุกวัน ทำเองที่บ้านได้ อัตรารอดชีวิตช่วง 2 ปีแรกดี แต่ต้องมีทีม Care giver คอยดูแล แต่หากผู้ป่วยจะเดินทางไปไหนต้องพกน้ำยาไปด้วย และต้องระวังปัญหาติดเชื้อ 

 

นพ.ชุติเดช  ตาบองครักษ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี


 

ปัจจุบันมีการที่ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ เรียกว่า APD ช่วยเพิ่มความสะดวกมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยล้างไตในช่วงกลางคืนได้ ทำให้กลางวันไม่ต้องล้างไต ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้ปกติ 
 

ต่อมาวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยต้องทำเส้นเลือดเพื่อถ่ายเลือดออกมาฟอก ข้อดีคือผู้ป่วยไม่ต้องฟอกไตเอง แต่อัตราการรอดชีวิตระยะแรกจะต่ำกว่าการล้างไตทางช่องท้อง ทั้งต้องรับบริการที่โรงพยาบาล แต่ละครั้งของการฟอกไตใช้เวลานาน 4 ชั่วโมง ต้องทำ 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ทั้งการดึงเส้นเลือดออกภายนอก ยังมีความเสี่ยงความดันตกและมีผลเสียอื่นตามมา
 

 

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 วิธี ประสิทธิผลการล้างไตไม่ต่างกันมาก ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราการรอดชีวิตในระยะ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 15 % ส่วนผู้ที่ฟอกเลือดจะอยู่ที่เกือบ 20% แต่ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการให้ความรู้กับผู้ป่วย เพื่อให้เลือกวิธีล้างไตที่เหมาะสมกับตนเอง โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 

 

สิทธิบัตรทองฟอกไตได้กี่วิธี
 

  1. ทางคลินิกของผู้ป่วย เช่น อายุ โรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคร่วมในระยะสุดท้าย เช่น มะเร็ง ตับแข็ง เป็นต้น ซึ่งจะเหมาะกับการล้างไตทางหน้าท้องมากกว่า 
  2. ปัจจัยร่วมมิติอื่น เช่น เศรษฐศาสตร์ การเดินทาง เพราะหากเลือกวิธีการฟอกเลือดก็ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อม มีผลกระทบต่อคนไข้ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี 
  3. ความพร้อมของญาติผู้ป่วย เนื่องจากกรณีวิธีฟอกเลือดก็ต้องให้ญาติขับรถรับส่งเพราะคนไข้ขับรถเองไม่ได้ หลังฟอกเลือดเสร็จอาจจะเป็นลม เป็นต้น 
     

“ท้ายที่สุดไม่ว่าผู้ป่วยได้เลือกบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีใด แม้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยเอง แพทย์ก็เคารพการตัดสินใจ แต่จะอธิบายความเสี่ยงให้เข้าใจกัน หากยอมรับได้แพทย์จะให้ดูแลผู้ป่วยตามวิธีที่เลือกด้วยความระมัดระวังตามไกด์ไลน์ที่กำหนด แต่หากผู้ป่วยเลือกวิธีที่เหมาะสมก็อาจเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและญาติได้” นพ.ชุติเดช กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ