ชีวิตดีสังคมดี

ไขข้อสงสัยฉีด 'วัคซีนโควิด' ยังไงให้ได้ผลดีสุด วัคซีนฟรี เช็กที่นี่

"วัคซีนโควิด" ยังไม่มีสูตรและแนวปฏิบัติมาตราฐาน ปัจจัยหลักๆ มาจากโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดคำถามมากมายว่า "ฉีดยังไง ยี่ห้อไหน ฉีดที่ไหน และเมื่อไรถึงจะครบและได้ผล" วันนี้ "คม ชัด ลึก" ได้ไขข้อสงสัย และรวบรวมจุดฉีดวัคซีนฟรีมาไว้ที่นี่

ประเทศไทยปรับ "โควิด" เป็นโรคประจำถิ่น แต่หลังจากเปิดประเทศและมีงานเทศกาลใหญ่ๆ อย่างสงกรานต์ ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก โควิดจึงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น มิหน่ำซ้ำยังพบสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดพบสายพันธุ์ XBB.1.16 อาจแพร่เชื้อเร็ว มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์ XBB.1 และ XBB.1.5 การควบคุมการแพร่ระบาดมีข้อจำกัดหลายด้าน ดังนั้น การป้องกันตัวเองด้วยการฉีด "วัคซีนโควิด" ให้ครบตามแนวปฏิบัติกรมควบคุมโรคเป็นสิ่งจำเป็น

นักท่องเที่ยวรวมตัวเล่นน้ำสงกรานต์ปี 2566

 

 

 

  • เพราะเหตุใดต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

การฉีด "วัคซีนโควิด" สามารถลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการป่วย และลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด เมื่อปี 2562 พบผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคน

  • "วัคซีนโควิด" ต้องฉีดกี่ครั้ง

วัคซีนโควิดซิโนแวค ใช้ในผู้อายุ18-59 ปี ฉีดจำนวน 2 ครั้ง (2 โดส) ฉีดสองครั้งห่างกัน 21 วัน (2-4 สัปดาห์)
วัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ฉีด 2 เข็มห่างกัน 16 สัปดาห์
วัคซีนโควิดโมเดอร์นา (Moderna) ฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 28 วัน

 

 

 

 

  • ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 คนละชนิดได้หรือไม่

"วัคซีนโควิด" แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการได้รับวัคซีนป้องกันโควิดต่างชนิดกันระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ในกรณีที่มีอาการแพ้ชนิดรุนแรงของเข็มที่ 1 ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวัคซีนชนิดอื่นต่อไป

 

 

 

 

  • ฉีดพร้อมวัคซีนอื่นได้หรือไม่

"วัคซีนโควิด" แนะนำให้ฉีดห่างจากตัวอื่น 4 สัปดาห์ เนื่องจากยังเป็นวัคซีนใหม่ ถ้าฉีดพร้อมกับวัคซีนตัวอื่นหากมีอาการข้างเคียงจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนใด

 

 

 

 

  • อายุต่ำกว่า 18 ปี ฉีด "วัคซีนโควิด" หรือไม่

ปัจจุบันวัคซีนที่มีได้รับการรับรองใช้ในผู้อายุ 6 เดือนขึ้นไป

 

 

 

 

  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สามารถฉีดได้ไหม

เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ จึงยังมีข้อมูลในหญิงตั้งครรภ์ไม่มาก หลักการทั่วไปทางการให้วัคซีน เช่น วัคซีนเชื้อตาย สามารถให้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และ 3 เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก การให้วัคซีนส่วนใหญ่จะแนะนาให้วัคซีนที่เป็นเชื้อตาย เช่น Sinovac (ตามทฤษฎีน่าจะให้ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลในหญิงตั้งครรภ์) ที่มีข้อมูลในสตรีตั้งครรภ์บ้าง คือ วัคซีนในกลุ่ม mRNA (Pfizer, Moderna) เป็นต้น สำหรับหญิงให้นมบุตรสามารถฉีดได้ เพราะไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามที่จะให้วัคซีน และเมื่อได้รับวัคซีนแล้วก็ไม่ต้องงดนมมารดาแต่อย่างใด

 

 

 

 

  • ผู้หญิงวางแผนที่จะตั้งครรภ์ สามารถฉีด "วัคซีนโควิด" ได้ไหม

วัคซีนนี้ไม่มีข้อห้าม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจว่ากาลังตั้งครรภ์หรือเริ่มจะตั้งครรภ์ แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็ม 2 ออกไป ไปฉีดหลังการตั้งครรภ์ หรือฉีดวัคซีนนั้นต่อในไตรมาส 2 หรือ 3 หรือ ฉีดวัคซีนให้ครบก่อนแล้วคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนหลังฉีดเข็มสุดท้าย

 

 

 

 

  • หากเคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว ฉีด "วัคซีนโควิด" ได้หรือไม่

ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว ถึงแม้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ แต่พบว่าระดับภูมิคุ้มกันมีการลดระดับลงอย่างรวดเร็วจึงสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก แนะนำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาแล้ว ฉีดวัคซีนหลังหายจากอาการป่วย ตรวจไม่พบเชื้อแล้วและพ้นระยะกักตัว 14 วัน ประมาณ 1-3 เดือน ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

 

 

 

 

  • เมื่อฉีด "วัคซีนโควิด" แล้วจะเป็นโรคโควิดได้หรือไม่

ยังมีโอกาสป่วยได้ เนื่องจากวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100% แต่หลังฉีดวัคซีน ถ้าเป็นโรคส่วนใหญ่อาการจะน้อยลง ลดอัตราการเสียชีวิต ลดความรุนแรงที่จะเข้าโรงพยาบาลนอนห้องไอซียู

 

 

 

 

  • มีผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่

เป็นเรื่องปกติที่จะมีผลข้างเคียง โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดแขนบริเวณที่ได้รับการฉีด คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก และมีไข้ หนาวสั่น มีผื่นลมพิษ ท้องเสีย เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงนั้นพบน้อยมาก เช่น การแพ้ชนิดรุนแรง เป็นต้น หากอาการไม่หายให้ติดต่อ HOT LINE 1669 กระทรวงสาธารณสุขทันที ห้ามฉีดในผู้แพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งก่อนหรือแพ้ส่วนประกอบวัคซีน ผู้ที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน ควรเลื่อนการฉีดออกไปก่อน

 

 

 

 

  • เมื่อฉีดแล้วมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

วัคซีนป้องกันโควิดที่นำมาใช้ในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แห่งประเทศไทยตามมาตรฐาน รวมถึงมีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากการใช้ในหลายประเทศ อีกทั้ง มีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดและรายงานตามระบบที่กำหนดไว้

 

 

 

 

  • ใครจะมีอาการรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อโควิด

ประชากรกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) มี 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6. โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับ "วัคซีนโควิด" เพราะประชากรกลุ่มนี้หากได้รับเชื้อโควิดจะมีอาการรุนแรงกว่าประชากรทั่วไป

 

 

 


อย่างไรก็ดี "ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ หรือ "หมอยง" เคยบอกไว้ว่า​ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำ "วัคซีนโควิด" โดยเน้นป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิต  และป้องกันความรุนแรงของโรค ดังนั้น​ การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น มีการพิจารณาปัจจัยต่างๆ​ ร่วมด้วย เช่น อายุ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน และความรุนแรงสถานการณ์การระบาดของโรค 

 

 

 


การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น "หมอยง" บอกว่า "WHO" แนะนำให้เริ่มฉีดได้ ที่ระยะเวลาตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือนขึ้นไปนับจากวัคซีนเข็มล่าสุด โดยให้เริ่มฉีดกระตุ้นให้แก่กลุ่มความเสี่ยงสูง (High priority) เป็นลำดับแรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ, ผู้ใหญ่ที่มีโรคร่วมอื่นร่วม ทำให้เสี่ยงสูง เช่น เบาหวาน  โรคหัวใจ, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ที่ ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ, กลุ่มเด็กที่อายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หญิงตั้งครรถ์ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นต้น

 

 

 

 

ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Medium priority) ได้แก่  ผู้ใหญ่มีสุขภาพดี อายุ 50-60 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวเสี่ยง และเด็ก วัยรุ่น ร่วมกับโรคประจำตัวมีปัยจัยเสี่ยง จะแนะนำให้วัคซีนสองเข็มแรก ร่วมกับ หนึ่งเข็มกระตุ้น ประชากรกลุ่มนี้สามารถรับวัคซีนเข็มที่ 4 ได้ แต่ไม่ได้แนะนำให้ทุกคน เนื่องจากอาจจะไม่เห็นผลในเชิงสาธารณสุข

 

 

 

 

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (Low priority) ได้แก่ กลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงดี อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 17 ปี มีความเสี่ยงต่ำจากการติดเชื้อ และความรุนแรง จึงให้พิจารณารับวัคซีนตามความจำเป็น โดยพิจารณาร่วมกับความรุนแรงของสถานการณ์ระบาด และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

 

 

 


นอกจากนี้ทาง "WHO" ได้มีการแนะนำให้ใช้ mRNA Bivalent vaccine ต่อสายพันธุ์ BA.5 ให้นำมาใช้เป็น Primary vaccine ได้แล้ว

 

 

 

 

  • ฉีด "วัคซีนโควิด" ฟรีที่ไหนบ้าง

1. ศูนย์บริการสาธารณสุข
สำหรับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถเข้ารับการ "วัคซีนโควิด" ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 13.00 - 15.00 น. สามารถเข้ารับบริการโดยจองคิวฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือ Walk in ไปที่ศูนย์บริการฯ ได้เลย ทั้งนี้ ควรสอบถามไปยังศูนย์บริการฯ ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด

 

 

 


วัคซีนที่ให้บริการ ได้แก่ ไฟเซอร์ (ฝาสีแดง, ฝาสีส้ม, ฝาสีม่วง, ฝาสีเทา (Bivalent) ใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) วัคซีน AstraZeneca และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB)ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป) วัคซีน AstraZeneca และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB)

 

 

 


2. โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ Pfizer Bivalent (ฝาสีเทา) ที่งานอนามัยชุมชน ชั้น 2 ทุกวันตั้งแต่วันนี้ - 30 เม.ย. 2566 ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)

 

 

 


"วัคซีนโควิด" สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีค่าบริการ 1,380 บาท ส่วนคนไทยและชาวต่างชาติ อายุ 12 ปี ขึ้นไป ที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย รับบริการฉีดวัคซีนได้ฟรี สามารถติดต่อ ณ จุดบริการ หรือจองผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ สอบถามเพิ่มเติมงานอนามัยชุมชนโทร 02-437-0123 ต่อ 1115,1242

 

 

 


3. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก (โรงพยาบาลศิริราช)
เปิดให้บริการจันทร์-พุธ เวลา 08.00-15.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ควรมาก่อนเวลานัดหมายอย่างน้อย 30 นาที โดยให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ มีทั้ง Pfizer (เดิม) และ Pfizer (Bivalent) สามารถจองคิวล่วงหน้าหรือมาที่ศูนย์บริการฯ ได้เลย รับจำนวน 70 คิวต่อวัน

 

 

 


4. สถาบันประสาทวิทยา
เปิดให้บริการวันจันทร์-เสาร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สามารถเข้ารับบริการได้ด้วยการมาติดต่อ ณ จุดบริการ โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า ให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แก่ผู้มีอายุตั้งแต่ 12-60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมทั้งผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาและรักษาหายครบ 3 เดือนแล้ว

 

 

 


สำหรับผู้ที่มีอายุ 12-15 ปี ให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-13.00 น. รับบริการได้ที่คลินิกกุมารประสาทวิทยา อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 3 ส่วนผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น. และวันเสาร์ เวลา 8.00-12.00 น. ที่ห้องหัตถการ อาคารรัชมงคล ชั้น 1

 

 

 


5. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
"วัคซีนโควิด" เปิดให้บริการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แยกเป็นฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง ให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี ในวันจันทร์ เวลา 13.00-15.00 น. และฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง ให้กับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ปี ในวันศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 2 ในวันวันจันทร์-ศุกร์ โดยนัดหมายลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ โทร. 02-548-1000

 

 

 


6. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์
"วัคซีนโควิด" ให้บริการฉีดวัคซีนโควิดฟรีแก่เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี ในวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ใช้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีเทา (Bivalent) เป็นเข็มกระตุ้นแก่ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้วอย่างน้อย 2 เข็มขึ้นไป และให้บริการฉีด "วัคซีนโควิดฟรี" เป็นเข็มหลักและเข็มกระตุ้นแก่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยใช้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง ฝาสีสัม และฝาสีม่วง ตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นไป โดยต้องลงทะเบียนเพื่อนัดหมายล่วงหน้า

 

 

 


7. จ.เชียงใหม่
สำหรับผู้ที่พักอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อ ณ จุดบริการ เพื่อเข้ารับการฉีด "วัคซีนโควิดฟรี" ได้ โดยควรโทรนัดล่วงหน้า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมมีดังต่อไปนี้

โรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-15.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
โรงพยาบาลแม่และเด็ก เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น.
โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 13.00-16.00 น.
โรงพยาบาลเชียงใหม่เมดิคอลเซ็นเตอร์ เปิดให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.
โรงพยาบาลประจำอำเภอ เปิดให้บริการทุกวันในเวลาราชการ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

 

 

 

แม้จะฉีด "วัคซีนโควิด" ป้องกันแล้ว แต่ก็ยังต้องยึดหลักการป้องกันตัวเองโดยต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ ลดการสัมผัส เลี่ยงการไปในพื้นที่เสี่ยงและทำกิจกรรมรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

 

 

ข้อมูล: โรงพยาบาลนครธน 

ข่าวยอดนิยม