ชีวิตดีสังคมดี

อาการโควิด เทียบชัด โอไมครอน 'XBB.1.16' และ XBB.1.5 พบอาการใหม่ 1 อาการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาการโควิด เทียบชัด ๆ โอไมครอน 'XBB.1.16'และ XBB.1.5 พบอาการใหม่ 1 อาการที่เพิ่งเคยมีตั้งแต่เกิดการระบาดของ โควิด เช็กอาการรุนแรงหรือไม่

ดูเหมือนว่า โควิด19 จะซาลง และคนทั่วไปไม่อยากจะสนใจการระบาดอีกแล้ว เนื่องจากจนอยู่กับสภาพที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยมานานกว่า 3 ปี และดูเหมือนว่าสถานการณ์โควิดจะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งที่ผ่านมาพบว่าเกิดการระบาดของ โอไมครอนสายพันธุ์   "XBB.1.16"  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ตระกูล XBB ที่กำลังระบาดและกลายเป็นสายพันธุ์หลักอยู่ขณะนี้  

 

 

 

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า "XBB.1.16" เกิดการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศอินเดีย และมีการเฝ้าระวังสายพันธุ์ตั้งแต่ในช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาเนื่องจากไวรัสมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และแพร่ระบาดได้ไวมากขึ้น ขณะที่ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 8 ราย และคาดการณ์ว่า อาจจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคต แทนที่ XBB.1.5 ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล XBB เหมือนกัน 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่ข้อมูลประเมินความเสี่ยงของการระบาดจาก XBB ที่ผ่านมาว่า มีรายงานการตรวจพบทั่วโลกแล้วเกือบ 40 ประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2565 - 11 ม.ค.2566) โดยประเทศที่ส่งรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก พบว่าสหรัฐอเมริกามีอัตราการขยายตัวของการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
 

ภาพประกอบบทความ

 

 

ส่วนการระบาดของ "XBB.1.16" ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวโลก และคนไทยอีกครั้งนั้นทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุข้อมูลว่า มีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ T547I แต่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ป่วยที่พบในไทยมีอาการอย่างไรบ้าง แต่ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า อาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 คือ ในผู้ป่วยเด็กจะพบอาการ เยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย จึงไม่มีหนอง และลักษณะของการอักเสบก็จะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะการกลายพันธุ์ส่วนหนามที่ช่วยให้ "XBB.1.16" สามารถจับกับเซลล์เยื้อบุตาได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น จนเกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตาร่วมด้วย

 

 

อาการ XBB.1.16 ที่พบได้นั้นมีดังนี้

ไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นจะเกิดเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่มีหนอง เพราะไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอไม่ครอนสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่าผู้ติดเชื้อ "XBB.1.16" แล้วต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด 

 

 

XBB1.16

 

 

 

ทั้งนี้ 22 มี.ค 2566 WHO  ได้จัดให้โควิด  "XBB.1.16" เป็นสายพันธุ์ที่กำลังถูกจับตา variant under monitoring เนื่องจากควิดสายพันธุ์ย่อย "XBB.1.16" มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ที่อาจส่งผลต่อลักษณะของเชื้อไวรัส รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดความได้เปรียบในการเติบโตกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าประเทศไทยมีการระบาดของโควิด สายพันธุ์ XBB.1.5 โดย อาการ XBB.1.5 และความรุนแรงคล้ายกับอาการทั่วไปของ โอไมครอน และไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก แต่พบว่ามีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี  

 

 

ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊ก ถึง โอไมครอน XBB.1.5 โดยระบุว่า ทีมงานจาก The Sato Lab ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ 15 ม.ค. 66 พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB.1.5 นั้น ดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ราว 10 เท่า และมากกว่า BA.2 ราว 20 เท่า นอกจากนี้จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่า XBB.1.5 ติดเชื้อสู่เซลล์ได้ง่ายกว่า XBB.1 ราว 3 เท่า และหากประเมินสมรรถนะของไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.5 ในการแพร่จากคนติดเชื้อไปยังผู้อื่น พบว่าจะแพร่ได้มากกว่า XBB.1 ราว 20% ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานจาก หน่วยงานควบคุมป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ได้ประเมินไว้เมื่อ 13 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา

 

 

อาการ XBB.1.5 คล้ายกับ อาการโอไมครอน เนื่องจากเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกัน ดังนั้นหากได้รับเชื้อเข้าไปเบื้องต้นจะมีอาการ ดังนี้  

 

  • ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยตัว
  • เสียงเปลี่ยนและมีเสมหะ
  • มีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส
  • รู้สึกหนาว แต่เหงื่อออก
  • มีน้ำมูกคัดจมูก
  • คอแห้ง รู้สึกคันคอและไอ
  • เจ็บคอ กลืนน้ำลายแล้วเหมือนมีมีดบาด
  • เหนื่อย อ่อนเพลียกว่าปกติ

 

XBB.1.16

 

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกเฝ้าระวังไวรัสในตระกูล XBB เนื่องจากไวรัสดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันลดน้อยลง ทั้งนี้ไวรัส XBB ถูกตรวจพบครั้งแรกในอินเดียในเดือนส.ค. 2565 ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักในประเทศ และต่อมามีการระบาดไปยังสิงคโปร์ หลังจากนั้นมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย สายพันธุ์ลูกผสมจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง XBB.1 และ XBB.1.5

 

ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า หากดูภาพรวมการระบาดในช่วง 30 วันของ โอไมครอน ในประเทศไทยโดย Outbreak.info ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกพบว่า สายพันธุ์หลักในไทยเป็น

 

  • XBB.1.5  ประมาณ 47%  
  • XBB.1.9.1 ประมาณ 27%
  • XBB.1.16  ประมาณ 13%
  • XBB.1.5.7  ประมาณ 7%  
  • XBB.1.16.1 ประมาณ 7%

 

 

ที่มา: Center for Medical Genomics, เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ