ชีวิตดีสังคมดี

โรงเรียนเอกชนปิดตัวกว่า 400 แห่ง เปิดค่าเทอม 10 รร.เอกชนยอดนิยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรงเรียนเอกชน' ยื้อสุดตัว โควิด 19 กระแทกแรง ปิดกิจการมากกว่า 400 แห่ง สาเหตุผู้ปกครองตกงานค้างค่าเรียน ไม่มีเงินไปต่อไม่ไหว วอน สช.อุ้มฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เปิดค่าเทอม 10 รร.เอกชนยอดนิยม

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 คลี่คลาย แต่แรงกระแทกยังไม่นิ่ง พบข้อมูล "โรงเรียนเอกชน"  ปี 2565 และปี 2566 โรงเรียนเอกชนในระบบปิดกิจการถึง 84 แห่ง โรงเรียนเอกชนนอกระบบกว่า 350 แห่ง รวมแล้วกว่า 400 แห่งที่ทนพิษโควิด 19 ไม่ไหว กลายเป็นความท้ายกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) มีหน้าที่กำกับดูแล เพราะการศึกษาเอกชนคือหนึ่งตัวชี้วัด "คุณภาพการศึกษาไทย" 
 

 

ข้อมูลปี 2565 มี "โรงเรียนเอกชน" ในระบบปิดกิจการ 45 แห่ง และอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องขอปิดกิจการอีก 35 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนเอกชนนอกระบบปิดกิจการไปแล้วมากกว่า 300 แห่ง และข้อมูลปี 2566 ปิดกิจการจำนวน 48 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนเอกชนในระบบ 4 แห่ง โรงเรียนเอกชนนอกระบบ 44 แห่ง 

 

 

ในห้วงเวลา 1 ปี 3 เดือน "โรงเรียนเอกชน" ในระบบปิดกิจการถึง 84 แห่ง โรงเรียนเอกชนนอกระบบมากกว่า 350 แห่ง ในภาพรวมทั้งหมดในสังกัด สช. โรงเรียนในระบบสามัญ 3,103 แห่ง และนานาชาติ 237 แห่ง รวมในระบบ 3,974 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ จำนวน 7,906 แห่ง 

 

 

 

ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ปกครองรวมตัวกันบุกไปที่ สช. เพื่อขอพบ "นายมณฑล ภาคสุวรรณ์" เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) หลังจากได้รับผลกระทบจากโรงเรียนนราทร กรุงเทพมหานคร แจ้งปิดกิจการแค่ 14 วันล่วงหน้า ทำให้ผู้ปกครองหาที่เรียนใหม่ไม่ทัน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับการย้าย ต้องใช้เงินอีกประมาณ 10,000-30,000 บาท แม้กฎหมายระบุชัดเจนว่า "โรงเรียนเอกชน" ต้องแจ้งเลิกกิจการให้ผู้ปกครองรับทราบล่วงหน้า 120 วัน ก่อนวันสิ้นปีการศึกษา

 

 

  นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.)

 

 

"โรงเรียนเอกชนทุกแห่งเจ็บ และได้รับผลกระทบหนัก ตั้งแต่โควิด 19 ระบาด เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย "โรงเรียนเอกชน" ทุกแห่งค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เอกชนในกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงเรียนเอกชนต่างจังหวัด ประกอบกับผู้ปกครองค้างจ่ายค่าเทอมจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนอาจจะไปต่อไม่ได้" "นายศุภเสฏฐ์ คณากูล" นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เล่าถึงข้อกังวัลหลังจากโรงเรียนเอกชนทยอยปิดตัวอย่างหน้าเป็นห่วง

 

 


"นายศุภเสฏฐ์" บอกต่อว่า สาเหตุการปิดกิจการ "โรงเรียนเอกชน" ปัญหาหลักๆ มาจากโรงเรียนขาดสภาพคล่อง เพราะผู้ปกครองค้างจ่ายค่าทำเนียมการศึกษา สำรวจพบตัวเลขค้างจ่ายถึง 2,000–3,000 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2566 สถานการณ์โควิด 19 เริ่มผ่อนคลาย โรงเรียนต่างๆ เปิดได้ตามปกติ ทำให้สามารถเก็บค่าเทอมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็มีผู้ปกครองบางส่วนที่ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงิน ยังไม่สามารถจ่ายค่าทำเนียมการศึกษาได้เต็มจำนวน และมีผู้ปกครองบางกลุ่มไม่ค่อยมีเงินจ่าย แต่อยากนำลูกหลานมาเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน เพราะมองว่าโรงเรียนเอกชนมีครูดูแลเด็กใกล้ชิดกว่า หรือจัดการเรียนการสอนดีกว่าโรงเรียนรัฐ จึงยืนยันนำลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน โดยขอผ่อนจ่ายค่าทำเนียมบุตรหลาน 

 

 

(ภาพประกอบโรงเรียนเอกชน)

 

 

 

"ที่ผ่านมาเราผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจโรงเรียนเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กไทยไม่ว่าจะอยู่ "โรงเรียนเอกชน" หรือโรงเรียนรัฐ ก็ควรได้รับสิทธิช่วยเหลือที่เท่าเทียมกัน อย่างเรื่องค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นรายหัว การช่วยค่าเทอม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเลย" "นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

 

 


"นายศุภเสฏฐ์" บอกสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเร่งด่วน คือ พยายามเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนที่กำลังเกิดวิกฤต เพื่อประคับประคองให้เดินหน้าต่อไปได้ ขอให้มุ่งเป้าไปที่เด็กอนาคตของชาติเป็นสำคัญ

 

 

 

"นายมณฑล" อธิบายว่า เปิดภาคการศึกษานี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ช่วงนี้อาจต้องประคองไปก่อน สช. กำลังดำเนินการเรื่องเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเต็มจำนวน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ
รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายความต้องการจำเป็นพื้นฐานของนักเรียน "โรงเรียนเอกชน" ในการขอรับเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน เพื่อความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำ โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาเอกชน ในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา

 

 

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

 

 

หลังจากนั้นขั้นตอนต่อไป คือ คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดการว่าจะมีความชัดเจนในครม.ชุดใหม่ หาก ครม.เห็นชอบให้การอุดหนุนอาหารกลางวันแก่นักเรียนเอกชนระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษาทุกคน ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4,236 ล้านบาท

 

 

"แนวทางช่วยเหลือที่กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณากองทุนช่วยเหลือ "โรงเรียนเอกชน" ที่ได้รับผลกระทบ ว่า สามารถนำเงินส่วนไหนมาช่วยเหลือได้บ้าง เพราะปัญหาตอนนี้คือเงินอุดหนุนที่โรงเรียนได้รับ ไม่เพียงพอสำหรับหักหนี้สิน แต่จะพยายามหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป" "นายมณฑล" กล่าว

 


ธุรกิจ "โรงเรียนเอกชน" ส่งสัญญาณขาลงมาตั้งแต่ปี 2562 มีการปิดกิจการเพิ่ม 4 เท่า โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสามัญศึกษา ที่จากเดิมจำนวนปิดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 20 แห่งต่อปี ในปี 2562 มีโรงเรียนปิดตัวถึง 66 แห่ง ส่วนใหญ่ที่ปิดตัวคือโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาล เพราะมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกับโรงเรียนรัฐ 

 

  • เปิดค่าเทอม 10 โรงเรียนเอกชนยอดนิยม

 

ค่าเทอม 10 โรงเรียนเอกชนยอดนิยม (ปี 2566)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ