‘ผู้ประกันตน’ ม.33-39- 40 ‘ประกันสังคม’ ให้สิทธิต่างกันอย่างไร
'ผู้ประกันตน' ในระบบประกันสังคม มาตรา 33-39-40 รู้หรือยัง เงินสมทบที่เราจ่ายไปทุกเดือนนั้น จะได้อะไรกลับคืนมาบ้าง ‘คมชัดลึก’ มัดรวมสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนทุกมาตราเอาไว้ เช็ครายละเอียดที่นี่
ทำความรู้จัก‘ประกันสังคม’
พ.ร.บ.ประกันสังคม เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2533 กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป และต่อมาได้ขยายออกไปถึงสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เมื่อวันที่ 2 เดือนกันยายน 2536 และขยายไปยังสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2545 เป็นต้นไป
‘ประกันสังคม’ หรือระบบกองทุนประกันสังคม เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและเป็นหลักประกันให้กับสมาชิก โดยออกเงินสมทบเข้าเป็นกองทุนกลางที่มีผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ออกเงินสมทบร่วมกัน เพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขในกลุ่มสมาชิก
คนวัยทำงานต้องมี‘ประกันสังคม’
'ประกันสังคม' ถือเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิตของคนทำงาน ช่วยลดภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต ซึ่งผู้ประกันตนที่มีประกันสังคมจะได้รับการดูแลและทดแทนรายได้ เมื่อเจ็บป่วยหรือต้องการไปหาหมอ หรือได้รับการทดแทนค่าใช้จ่ายตามเหตุ สอดคล้องกับข้อกำหนดในการใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมดแทนค่าใช้จ่ายตามเหตุ สอดคล้องกับข้อกำหนดในการใช้สิทธิประกันสังคมทั้งหมด
ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33 พนักงานเอกชนทั่วไปหรือมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน โดยถูกหักจากเงินเดือนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันสูงสุดหักไม่เกิน 750 บาท อนาคตมีความพยายามจะขยายเป็นหัก 1,000 บาท เพื่อรองรับลูกจ้างว่างงานได้รับเงินชดเชย 10,000 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่มีควมคืบหน้าในเรื่องนี้หลังวิกฤติโควิด19
นอกจากนั้น นายจ้างต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันด้วย ซึ่งมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ, เสียชีวิต และว่างงาน
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก หรือบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย, อุบัติเหตุ, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และเสียชีวิต
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 เป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 ผู้ที่จะสมัครประกันสังคมในมาตรา 40 ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี ผู้สมัครสามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 3 ทางเลือก ประกอบด้วย
ทางเลือกที่ 1(จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
ทางเลือกที่ 2(จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ
ทางเลือกที่ 3(จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท) ได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และการสงเคราะห์บุตร
ที่มา : สำนักงานประกันสังคม