ชีวิตดีสังคมดี

'กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน' รักษาไม่ทันเสี่ยงติดเตียง-เสียชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน' รักษาทันโอกาสใช้ชีวิตปกติสูง รักษาไม่ทันเสี่ยงติดเตียงและเสียชีวิต เตือนเจ็บแน่นหน้าอกรุนแรง เหนื่อย หายใจไม่ทัน ปวดร้าวกราม รีบพบแพทย์

แพทย์พยายามยื้อชีวิต "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" หลังเกิดภาวะ "ฮีทสโตรก" หรือโรคลมแดด แพทย์ระบุชัดว่า "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" ส่วนสาเหตุที่แท้จริงรอผลชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการอีกครั้ง วันนี้ "คม ชัด ลึก" จะพาไปทำความรู้จักกับ "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" 

โรค "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" เป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยและทั่วโลก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการอุดตันเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอันตรายรุนแรง หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยหมดสติกระทันและเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ถ้ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นบริเวณกว้างส่งผลทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

สถิติกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะ "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" พบว่า ประมาณร้อยละ 10 – 15 เสียชีวิตตั้งแต่ยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล ขณะที่ร้อยละ 10 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล กลุ่มที่ได้รับการรักษาเร็วก็จะมีโอกาสรอด ความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจจะน้อย สามารถกลับไปมีชีวิตเป็นปกติได้ แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมาก แม้จะรอดชีวิต ในระยะยาวผู้ป่วยที่เคยประสบภาวะดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังจนบีบตัวไม่ไหว ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายเหมือนคนอ่อนแรง เหนื่อยง่าย กลายเป็นผู้ป่วยติดเก้าอี้ ติดเตียง

 


3-4 ชั่วโมง หลังหัวใจขาดเลือด เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "Best Window" ในเวลาดังกล่าวแพทย์ต้องพยายามเปิดหลอดเลือดให้ได้ภายใน 90 นาที เพื่อทำให้กล้ามเนื้อได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ถือว่ามีโอกาสได้คืนอย่างน้อยร้อยละ 60-70 แต่ถ้าเลยหลังจากเวลานั้นไปแล้วโอกาสน้อยมาก

 

 

"กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน สาเหตุเนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือบริเวณที่มีคราบไขมันเกิดการปริของผนังหลอดเลือด ทำให้มีลิ่มเลือดมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดและก่อตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตัน ส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 

 

 

อาการและสัญญานเตือนของโรคที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดร้าวไปกราม คอ  สะบักหลัง แขนซ้าย เหนื่อยหายใจไม่ทัน บางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอดูอาการที่บ้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้า ทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลวตามมา

 

 

โรค "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" พบได้บ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ปัจจุบันแม้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยก็มีอายุน้อยลง แต่ข่าวดีก็คือ อัตราคนไข้ที่เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลง 

 


คนที่รักษาสุขภาพร่างกายตลอดชีวิต ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทนภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดีกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย เมื่อเป็นโรค "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" ความรุนแรงของโรคจะลดลง ระยะฟื้นตัวจะสั้นกว่า ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  ซึ่งสิ่งที่แก้ได้และทำให้ดีขึ้นได้คือ ดูแลสุขภาพร่างกาย ปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกาย ไม่เครียด ไม่สูบบุหรี่ ดูแลโรคประจำตัวให้อยู่ในภาวะปกติ ควบคุมน้ำหนักให้ดีที่สุด และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน" มีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ และควบคุมไม่ได้ สำหรับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ กรรมพันธุ์  เพศ  และอายุ ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความอ้วน และโรคเบาหวาน 


 

ข้อมูล: กระทรวงสาธารณสุข,bangkokhearthospita

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ